xs
xsm
sm
md
lg

“โรงงานขาเทียมในโรงพยาบาลชุมชน” โครงการดี...ฟื้นชีวีผู้พิการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

P1- รศ.นพ.เทอดชัย  ชีวะเกตุ เลขาธิการมูลนิธิฯ
“โรงงานขาเทียมในโรงพยาบาลชุมชน"
โครงการดี...ฟื้นชีวีผู้พิการ
จารยา บุญมาก

หากจะหยุดความสามารถของตนเอง ด้วยการนั่งเฉยๆ รอเงินช่วยเหลือจากญาติ ผู้ใจบุญมาบริจาค เพียงเพราะข้ออ้างว่า “เราพิการ” คงเป็นข้อแก้ตัวที่ใช้ไม่ได้สำหรับผู้พิการขาอย่าง “ไชยศรี ยศประเสริฐ” ช่างทำขาเทียมที่ อดีตเคยถูกงูพิษฉกขาระหว่างทำเกษตรกรรม ตั้งแต่ปี 2521 จนต้องสูญเสียขาข้างขวาและต้องใส่ขาเทียม ตั้งแต่ปี 2525 ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นสามารถประกอบกิจกรรมอย่างคนปกติได้

ลุงไชยศรี เล่าต่อว่า การพิการขาด้วยอุบัติเหตุที่ตนเองไม่ตั้งใจ ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวที่จะต้องมานั่งน้อยใจชีวิต แต่หมายถึงชีวิตต้องแข็งแรงกว่าเดิม ซึ่งตนเลือกที่จะทำอาชีพเกษตรกรรมต่อไปในบ้านเกิด ที่ จ.สุรินทร์ ก่อนจะผันตัวเองมาทำประโยชน์แก่สังคมด้วยการเป็นครูสอนช่างทำขาเทียม พร้อมกับเพื่อนร่วมงานอีก 7 คน ในมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จ.เชียงใหม่ ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ที่พอเลี้ยงลูก 3 คนแล้ว ก็ยังช่วยถ่ายทอดความรู้แก่ช่างฝีมือที่ทำขาเทียมคนอื่นๆ อีกด้วย ส่วนนี้ตนมั่นใจว่าเป็นคุณค่าของชีวิตที่สมบูรณ์แล้ว


ด้าน รศ.นพ.เทอดชัย ชีวะเกตุ เลขาธิการมูลนิธิฯ กล่าวว่า การดำเนินงานของมูลนิธิฯ ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนในภาพรวม คือ ไม่เน้นสร้างรายได้หรือกำไรใดๆ แต่เน้นที่การถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ชุมชนได้มีโอกาสเข้าถึง โดยไม่ต้องรอคิวรับขาเทียมตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ เพียงอย่างเดียว โดยนับตั้งแต่จดทะเบียนมูลนิธิขาเทียมฯ เมื่อ พ.ศ.2535 จนถึง ก.พ.2555 มูลนิธิฯ จัดหน่วยไปทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ 117 ครั้ง ในประเทศ 52 จังหวัด สามารถทำขาเทียมให้ผู้พิการทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวน 20,077 คน ในจำนวนขา 23,346 ขาช่วยผู้พิการประหยัดเงินได้กว่า 675 ล้านล้านบาท (675,930,000 ล้านบาท)

มาตรฐานในการบริการของมูลนิธิฯ ในปัจจุบัน สามารถวัดขนาดขาและผลิตขาเทียมเสร็จสิ้นภายใน 4-5 ชั่วโมง ซึ่งผู้พิการสามารถทำขาเทียมภายในวันเดียวได้ขาเทียมกลับไปใช้ได้เลยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และยังสามารถทำขาเทียมโรงพยาบาลในตัวเมืองซึ่งมีช่างเพียง 1-3 คน ตลอดจนการออกหน่วยเคลื่อนที่ของมูลนิธิฯ ไปยังท้องถิ่นชนบทและบางครั้งก็ดำเนินการในต่างประเทศ โดยการออกหน่วยเคลื่อนที่ปีละ 5 ครั้ง ครั้งละ 7 วัน รองรับผู้พิการได้ประมาณ 300 ขาต่อครั้ง
เจ้านางพญ. เขมรัสมี
แม้ทางมูลนิธิฯ มีการผลิตที่มีมาตรฐาน แต่เชื่อว่า มีบางพื้นที่ที่ยังขาดแคลนอยู่ จึงนับว่าเป็นโอกาสดี ที่ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) จัดตั้งโรงงานทำขาเทียมขึ้น พร้อมสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ในการทำขาเทียม เพื่อให้คนพิการขาขาดได้รับขาเทียมอย่างรวดเร็วและทั่วถึง และฝึกอบรมให้คนพิการขาขาดได้มีความรู้ความสามารถในการทำขาเทียม ภายใต้ชื่อ “โครงการโรงงานขาเทียมประจำโรงพยาบาลชุมชน (รพช.)” ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2551 จนปัจจุบันมีจำนวน 22 แห่ง บริการขาเทียมไปแล้ว 3,138 ขา ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ ผู้พิการในการเดินทางไปรับขาเทียมในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้

สำหรับหน่วยบริการนั้นมีกระจายอยู่ในแต่ละภาค อาทิ ภาคเหนือ รพ.แม่ลาว จ.เชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รพ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด รพ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ภาคกลาง รพ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ร ภาคตะวันตก รพ.สมเด็จพระยุพราชจอมบึง จ.ราชบุรี ภาคใต้ รพ.สมเด็จพระบรมราชินีนาถนาทวี จ.สงขลา และในอนาคตจะเร่งพัฒนาความรู้เพิ่มเติมโดยตั้งเป้าดึง รพช.เข้ามาเป็นเครือข่ายอย่างน้อยปีละ 3-5 แห่ง เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการรับขาเทียมของผู้พิการ
"การดำเนินงานของมูลนิธิฯ มุงเน้นทำขาเทียมให้ผู้พิการขาขาด ยากไร้ ด้อยโอกาส โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนาและไม่คิดมูลค่าพร้อมๆ กับคิดค้นชิ้นส่วนขาเทียมเน้นใช้วัสดุในประเทศไทยซึ่งมีคุณภาพไม่ต่างจากวัสดุที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดย นอกจากผลิตขาเทียมที่ใช้งานทั่วไปแล้ว ยังผลิตขาเทียมเกษตรที่สามารถใส่แบบสมบุกสมบัน ทำนา ทำไร่ ได้ ตลอดจนทำให้ผู้พิการใส่ขาเทียมนั่งพับเพียบ ขัดสมาธิ รวมทั้งเท้าเทียมที่สามารถสวมรองเท้าแตะแบบหูคีบได้ ซึ่งปัจจุบันมีต้นทุนของเท้า 2,000 บาทต่อข้างจากเดิมที่มีราคาถึง 4,000 บาท” รศ.นพ.เทอดชัย อธิบาย
ด้านเจ้านาง พญ. เขมรัสมี ขุนศึกเม็งราย ที่ปรึกษาอาวุโส สปสช.กล่าวว่า ในด้านการส่งเสริมการผลิตขาเทียมนั้น ใช้งบประมาณในส่วนของผู้พิการ ซึ่งได้รับเฉลี่ย 13.75 บาทต่อคน รวมงบทั้งหมดมูลค่ากว่า 630 ล้านบาทต่อปี โดยในจำนวนนี้มีการจัดบริการเสริมทุกรูปแบบ ทั้งการดูแลรักษา การฟื้นฟูและการบำบัด ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น