xs
xsm
sm
md
lg

กรมศิลป์ ยันบูรณะโบราณสถานน้ำท่วม 311 แห่ง เสร็จ ก.ย.แน่นอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
กรมศิลป์ เผย บูรณะโบราณสถานน้ำท่วม 311 แห่งทั่วประเทศ ยันเสร็จทัน ก.ย.นี้ แน่นอน รับห่วงวัดไชยวัฒนาราม-วัดมหาธาตุ-วัดพระศรีสรรเพชญ์ ในอยุธยา เพราะได้รับความเสียหายมาก ย้ำ จะบูรณะให้กลับมามั่นคงแข็งแรงดังเดิม

นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถามถึงการบูรณะโบราณสถาน โดยเฉพาะในพื้นที่แหล่งมรดกโลก อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ที่ถูกน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ตนได้รายงานว่า กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะแล้วในหลายจุด แต่ยังมีบางส่วนที่ยังไม่ได้ดำเนินการ และเร่งกรมศิลปากร ดำเนินการจัดทำร่างขอบเขตงานหรือทีโออาร์ จัดซื้อจัดจ้างหาบริษัทผู้รับเหมาให้เสร็จภายใน 15 มีนาคม นี้ พร้อมทั้งให้รายงานความคืบหน้ามาเป็นระยะๆ เพื่อที่ตนจะได้รายงานให้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีได้รับทราบต่อไป

ด้าน นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ขณะนี้กรมศิลปากร ได้มอบหมายให้บริษัทผู้รับเหมาดำเนินการบูรณะโบราณสถานที่ประสบภัยน้ำท่วมแล้ว ในหลายแห่ง แต่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีโบราณสถานที่เสียหายประมาณ 130 แห่ง กรมศิลปากร ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่และบริษัทเข้าไปดำเนินการบูรณะแล้วประมาณ 80 แห่ง เหลืออีก 50 แห่ง ที่กำลังจัดซื้อจัดจ้างมาดำเนินการบูรณะ ซึ่งสำนักงบประมาณให้งบประมาณมาแล้วทั้งหมด 1,370 ล้านบาท ถูกลดงบประมาณไปประมาณ 100 ล้านบาท ในการดำเนินการบูรณะโบราณสถานทั้งหมด 311 แห่งทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม กรมศิลปากร จะต้องดำเนินการบูรณะโบราณสถานทั้ง 311 แห่ง ให้เสร็จภายในวันที่ 30 กันยายนนี้ เนื่องเพราะไม่ใช่งบผูกพัน

นางโสมสุดา กล่าวว่า มีหลายคนวิตกกังวลว่าการบูรณะโบราณสถานจะเสร็จทันตามกำหนดหรือไม่ กรมศิลปากร ขอชี้แจงว่า เสร็จทันตามแผนงบประมาณอย่างแน่นอน เพราะบางแห่ง ไม่ได้บูรณะทั้งหมด แต่บูรณะบางส่วนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ส่วนที่น่าห่วงจะอยู่ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะวัดไชยวัฒนาราม วัดมหาธาตุ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก จะต้องมีการบูรณะให้กลับมามีความมั่นคงแข็งแรงอีกครั้ง ส่วนการบูรณะจะเน้นมาตรฐาน โดยเฉพาะเรื่องของอิฐจะต้องใช้กรรมวิธีเผาแบบพิเศษหรือแบบโบราณที่ให้ความคงทนสูง คือ ให้ใช้ส่วนผสมของดินเหนียวมากกว่าแกลบ โดยขณะนี้มีผู้เชี่ยวชาญจากเยอรมนี และของกรมศิลปากรช่วยดูแลการบูรณะอย่างใกล้ชิด
กำลังโหลดความคิดเห็น