สทศ.เดินหน้าสนองนโยบาย “สุชาติ” จัดทำ ธนาคารข้อสอบ และพัฒนาระบบ E-Testing โดยเตรียมตั้งงบประมาณปี 56 เพื่อใช้ดำเนินการ พร้อมเร่งทำรายละเอียดเสนอเรื่องการนำคะแนน O-Net มาใช้ในการจบการศึกษาพื้นฐาน ประธานบอร์ด สทศ.ยัน รมว.ศึกษาฯ เข้าใจและพร้อมให้การสนับสนุน
ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด สทศ.เมื่อเร็วๆ นี้ ตนพร้อมด้วย รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการ สทศ.ได้รายงานให้บอร์ดรับทราบถึงการนโยบาย ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ภายหลังเข้าพบเพื่อชี้แจงการดำเนินงานของ สทศ.อย่างไรก็ตาม รมว.ศึกษาธิการนั้น เข้าใจและเห็นความสำคัญของการจัดทดสอบเพียงแต่เห็นว่า สทศ.ควรจะพัฒนาระบบการทดสอบให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น และทำได้มากกว่า 1 ครั้งโดยเฉพาะการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) อีกทั้งควรดำเนินการพัฒนาระบบ E-Testing ซึ่งเป็นระบบการสอบโดยใช้คอมพิวเตอร์ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสและเชื่อมโยงสู่การ นำไปใช้ประโยชน์ต่อการศึกษาได้มากขึ้น นอกจากนี้ รมว.ศึกษาธิการ เห็นว่า สทศ.ควรจะมีการแจ้งผลการสอบและเฉลยข้อสอบเพื่อการเรียนรู้แก่ผู้เรียน ซึ่ง สทศ.ได้รายงานว่า ที่ผ่านมา มีการพูดคุยในประเด็นนี้และมีการวางแผนเพื่อ ดำเนินการเพียงแต่ว่าการจะทำเรื่องนี้เราต้องมีธนาคารข้อสอบ หรือ Item Bank เพื่อรองรับเหมือนอย่างสถาบันทดสอบทั่วโลก
“รมว.ศึกษาธิการ เห็นด้วยว่า สทศ.ควรมีธนาคารข้อสอบและให้เร่งดำเนินการ โดยให้ไปจัดทำรายละเอียดและตั้งบประมาณของปี 2556 เพื่อมาเสนอ รวมถึงการพัฒนาระบบ E-Testing ด้วย ซึ่ง สทศ.อาจจะเริ่มต้นทำการวิจัยนำร่องเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมออกข้อสอบเป็นประจำ โดยมีจุดหมายปลายทาง คือ การประกันว่าผู้สำเร็จการศึกษาต้องมีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.สุชาติ ให้ความเห็นว่าควรทำให้เด็กเห็นความสำคัญกับการนำคะแนนโอเน็ตไปใช้มากกว่า นี้ เพราะแม้จะเด็กจะใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัยแต่มีเพียง 30% ดังนั้น สทศ.จึงเสนอว่า ควรนำคะแนน O-Net ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการจบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่ง สทศ.เคยพยายามผลักดันมาแล้วและเกือบสำเร็จในปี 2551 ครั้งนี้ ถือเป็นจังหวะที่ดี เพราะ รมว.ศึกษาธิการ ให้การสนับสนุนพร้อมสั่งการให้เร่งทำรายละเอียดขึ้นมาเสนอ โดยบอร์ด สทศ.รับทราบและเห็นชอบให้ดำเนินการโดยเร็วเช่นกัน” ประธานบอร์ด สทศ.กล่าว
ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง กล่าวต่อว่า ที่ประชุมบอร์ด สทศ.ได้ตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงขึ้น เนื่องจาก สทศ.มีการจัดสอบในหลายด้านจึงมีหลากหลายมิติที่ต้องบริหารจัดการ และอยู่ระหว่างแต่งตั้ง Examination Board ด้วย เพื่อให้ทำหน้าที่พิจารณา ตรวจสอบ และกลั่นกรองข้อสอบให้เป็นไปตามมาตรฐาน ขณะเดียวกัน ได้อนุมัติโครงการวิจัยสังเคราะห์ระบบการทดสอบระดับชาติประเทศต่างๆ ของการวิจัยระบบการทดสอบอิงมาตรฐานผู้เรียน และการวิจัย (Common Standard Asian Framework of English) ซึ่งเป็นการศึกษาประเทศที่เขามีการจัดการทดสอบที่ก้าวหน้าอย่างไรและนำมาเป็นข้อมูลการพัฒนาระบบของเรา เพราะต่อไปเราจะก้าวอาเซียน จุดนี้เป็นฐานสร้างข้อสอบการวัดความสามารถทางภาษาอังกฤษ