xs
xsm
sm
md
lg

สังคมออนไลน์กุมหัวใจ ในโลกที่มีแต่ ‘คนเหงา’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คุณวัตร ไพรภัทรกุล

หากพูดถึง “ซิมซิมอิ” หรือ “ซิมซิมิ” ในห้วงนี้ มันอาจจะกลายเป็นเรื่องที่เชยสุดๆ ไปซะแล้ว ทว่า ปรากฏการณ์ซิมซิมิ กลับตอกย้ำอย่างชัดเจนว่า สังคมนี้จำนวนของคนขี้เหงาเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที

และเพื่อไม่ให้ “ความเหงา” เข้าเกาะกุมหัวใจ หรือเป็นโรคเหงา โดดเดี่ยวโดยเฉพาะในโลกที่เราใช้เวลาในเครือข่ายสังคมออนไลน์มากกว่า โลกจริงๆ ที่จับต้องสัมผัสได้ เราจะมีวิธีป้องกัน แก้ไข และช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างไรบ้าง

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต กล่าวถึงสาเหตุ ว่า เนื่องจากในปัจจุบันด้วยครอบครัวที่เล็กลง สมาชิกน้อยลง โครงสร้างความสัมพันธ์จึงน้อยลงไปด้วย อีกทั้งความสัมพันธ์ของคนในสังคมก็จืดจางลง ทำให้สื่อต่างๆ เข้ามาแทนที่ได้ง่าย อย่างสื่อที่สามารถโต้ตอบกับผู้เล่นได้ เช่น ซิมซิมิ หรือเกมต่างๆ เพราะสามารถเร้าความสนใจของผู้เล่นได้มาก และด้วยการสื่อสารที่ไม่ต้องเปิดเผยตัวตน สื่อสารได้อย่างรวดเร็วทันใจ จึงทำให้การสื่อสารเหล่านี้มีความแพร่หลายสูง

“ยกตัวอย่างชีวิตประจำวันของพ่อแม่ที่ต้องทำงานเข้าออกเป็นเวลา ต้องใช้เวลาให้กับงานและความสัมพันธ์ในสังคมมากขึ้น จึงทำให้วัยรุ่นเข้าหาสื่ออย่างเครือข่ายสังคมออนไลน์มากขึ้น ซึ่งส่วนตัวมองว่ารูปแบบของปัญหาเหล่านี้ก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เหมือนเป็นกระแส อาจจะไม่ได้เป็นที่นิยมนานนัก แต่อาจจะมีอย่างอื่นเข้ามาแทนที่ เพราะฉะนั้นครอบครัวจึงต้องหันมาใส่ใจในเรื่องเหล่านี้” พญ.อัมพร กล่าว

พญ.อัมพร กล่าวถึงแนวทางแก้ไขว่า ผู้ที่ใช้สื่อเหล่านี้ต้องรู้เท่าทันสื่อ ต้องรู้ตัวว่ากำลังเสพติดหรือลุ่มหลงอยู่ ต้องพยายามอย่าตกเป็นเหยื่อ ด้านคนในครอบครัวก็ต้องปลูกฝังความใกล้ชิดกัน สร้างความมีคุณค่าให้กับสมาชิกในครอบครัว ถ่ายทอดต้นแบบที่ดี ใช้สื่อในครอบครัวร่วมกัน อีกทั้งต้องเข้าใจถึงพัฒนาการในช่วงวัยด้วย อย่างช่วงเด็กโตหรือวัยรุ่นที่ต้องการอิสระ โรงเรียนและสื่อมวลชนก็เป็นส่วนสำคัญที่ต้องร่วมกันเฝ้าระวัง

“ถ้าผู้เล่นมีวุฒิภาวะเพียงพอ ก็จะเล่นเพียงแค่ช่วงระยะหนึ่ง แต่ถ้ามีวุฒิภาวะไม่เพียงพอ ก็จะติดสื่อเหล่านี้มาก คนรอบข้างหรือครอบครัวต้องช่วย ด้วยการให้เวลา สร้างบรรยากาศในครอบครัวร่วมกัน ดึงความร่วมมือของสมาชิก ซึ่งจะช่วยให้มีความสุขร่วมกัน รวมถึงการตกลงกติกาในการควบคุมการใช้สื่อร่วมกันว่าวันหนึ่งควรจะเล่นในระยะเวลาแค่ไหน” พญ.อัมพร กล่าว

พญ.อัมพร ยังให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าในตัววัยรุ่นหรือคนทั่วไปเป็นสิ่งสำคัญ คนรอบข้างต้องดึงดูดให้เกิดการทำกิจกรรมร่วมกัน โดยการสร้างให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเองต่อคนรอบข้าง เช่น วัยรุ่นที่เล่นกีฬาไม่เก่ง พ่อแม่ก็ควรชวนไปเล่นกีฬาร่วมกัน เพื่อให้เขาเกิดความภูมิใจ หรือชวนไปเที่ยวและทำกิจกรรมอื่นๆ โดยสิ่งเหล่านี้ครอบครัวควรแสดงออกได้ด้วยการชม

“หากวัยรุ่นหาคุณค่าของตัวเองไม่เจอ หรือคิดว่าชีวิตประจำวันไม่ค่อยมีอะไรทำ ก็เหงาแล้วจะหันมาพึ่งสื่อเหล่านี้มากขึ้น จนทำให้ความสัมพันธ์ต่อคนอื่นมีน้อยลง รู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น จะทำผิดหรือถูกก็ไม่รู้ว่าทำเพื่อใคร ไม่มีเป้าหมายในชีวิต ทำอะไรก็จะล้มเหลวง่าย จนทำให้ตัวเองโดดเดี่ยวจากคนในสังคมและครอบครัวมากขึ้น ถ้าหนักมากก็จะถึงขั้นมีปัญหาทางจิต จนถึงฆ่าตัวตายหรือทำร้ายผู้อื่นได้ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เราโทษแต่สื่ออย่าง เฟซบุ๊ก บีบี หรืออะไรก็ตามแต่ ไม่ได้ เพราะบางครั้งคนเราก็อ่อนแอจนไม่รู้ว่าจะใช้ประโยชน์จากสื่อเหล่านี้หรือหลีกเลี่ยงโทษของสื่อเหล่านี้อย่างไร” พญ.อัมพร ทิ้งท้าย
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์


กำลังโหลดความคิดเห็น