กทม.ให้ยื่นเรื่องขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาทได้ถึง 29 ก.พ.นี้ พร้อมขอโยกงบทำสะพานไม้ 50 ล้าน ทดรองจ่ายให้ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากนำท่วมก่อน
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดภายหลังการประชุมแนวทางการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยร่วมกับตัวแทนธนาคารออมสิน ว่า จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติเงินเยียวยาประชาชนครัวเรือนละ 5,000 บาท จำนวนทั้งหมด 1,087,242 ครัวเรือน ด้วยงบประมาณ 5,000 ล้านบาท พร้อมขยายเวลาให้ประชาชนยื่นคำร้องที่สำนักงานเขตออกไปถึงวันที่ 29 ก.พ.จากนั้นสำนักงานเขตจะส่งข้อมูลไปยังสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม.ในวันที่ 5 มี.ค.และ สปภ.กทม.ส่งให้กับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในวันที่ 8 มี.ค จากนั้น ปภ.ก็จะส่งข้อมูลต่อไปยังธนาคารออมสิน ภายในวันที่ 15 มี.ค.พร้อมจ่ายให้กับผู้ประสบภัย
ในส่วนการจ่ายเงินซ่อมแซมบ้านที่เสียหายตามหลักเกณฑ์ 5 รายการ ประกอบด้วย 1.บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 30,000 บาท 2.บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 20,000 บาท 3.เสียชีวิตรายละ 25,000 บาท และถ้าผู้เสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัวจะได้รับเพิ่มอีกรายละ 25,000 บาท 4.เงินช่วยเหลืออุปกรณ์ประกอบอาชีพรายละ 10,000 บาท และ 5.ค่าเช่าบ้านจะจ่ายรายละไม่เกิน 2 เดือน ในวงเงินเดือนละไม่เกิน 1,500 บาท นั้น กทม.จะเปิดให้ประชาชนยื่นเอกสารและหลักฐานได้ที่สำนักงานเขตถึงวันที่ 29 ก.พ.ซึ่งตามขั้นตอนสำนักงานเขตจะรวบรวมข้อมูลส่งไปที่ สปภ. กทม. และส่งต่อไปยังสำนักการคลัง กทม.จากนั้นก็จะส่งต่อไปที่ ปภ.เมื่อเห็นชอบแล้วก็จะส่งงบประมาณกลับมาที่ กทม.จากนั้นจะโอนให้กับธนาคารออมสินเพื่อจ่ายให้กับประชาชนต่อไป สำหรับค่าธรรมเนียมการโอนเงินของธนาคารนั้น ตนจะนำเข้าที่ประชุมผู้บริหาร กทม.ในวันที่ 6 ก.พ.นี้ เพื่อพิจารณาว่า กทม.จะช่วยเหลือในส่วนของค่าธรรมเนียมการโอนได้หรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณ 5 - 10 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีประชาชนมายื่นเรื่องแล้ว 50,862 ราย จากทั้งหมดประมาณ 1 ล้านราย ทั้งนี้ เพื่อทดสอบระบบการจ่ายเงินของธนาคารออมสิน กทม.จะเสนอปภ.ขอโยกงบประมาณค่าทำสะพานไม้จำนวน 50 ล้านบาท ทดรองจ่ายให้กับประชาชนไปก่อนที่จะเบิกจ่ายจริงภายหลัง