xs
xsm
sm
md
lg

อนาถ! สังคมไทย ยังพบเพศชายใช้ความรุนแรง เกือบ 86%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ผลสำรวจเผย ชายไทยชอบใช้ความรุนแรงถึง 86% พม.ร่วมกับภาคีวางนวัฒกรรมป้องกันการใช้ความรุนแรงกับเด็กและสตรี

วันนี้ (27 ม.ค.) ที่โรงแรมพาลาซโซ ห้วยขวาง นายศุภกฤษ์ หงส์ภักดี รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “สมัชชาสหวิชาชีพ เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” ซึ่งเป็นความร่วมมือ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มูลนิธิหญิงไทย ก้าวไกล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงไทยก้าวไกล กล่าวว่า จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2553 พบว่า เด็กและสตรีที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ที่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั่วประเทศ มีจำนวน 25,767 ราย เป็นเด็ก 53% ผู้หญิง 47% นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและความรุนแรงในครอบครัวสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ปี 2551-2554 ยังพบว่า ผู้กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นเพศชายมากถึง 86% ฉะนั้น การแก้ปัญหาความรุนแรงในเด็กและสตรี จะต้องเกิดจากความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งชุมชน โดยในปี 2555 นี้ จะมีการนำพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในการลดความรุนแรงในเด็กและสตรี ของจังหวัดสมุทรปราการ และ นนทบุรี เป็นตัวอย่างของการดำเนินงาน โดยจะมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย มาร่วมเสนอแนวทางการทำงาน รวมทั้งการให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการ เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมามี พ.ร.บ. คุ้มครองผู้กระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 แต่รายละเอียดในการปฏิบัติยังไม่ชัดเจน

“ที่ผ่านมา เมื่อเกิดปัญหาแก่ผู้ถูกกระทำที่มีการดำเนินคดีทางกฎหมายจะเฉพาะคดีล่วงละเมิดทางเพศเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานลดความรุนแรงในเด็กและสตรีให้ได้ผล จะต้องมีการประชุมแนวทางการทำงาน ให้คำปรึกษา การทำงานของชุมชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งจะเป็นการทำงานแบบสหวิชาชีพจะเป็นตัวช่วยให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย ที่สำคัญ คือ ต้องเยียวยาและฟื้นฟูจิตใจของผู้ถูกกระทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบางรายอาจจะใช้เวลานานเป็นพิเศษ เพราะกว่าจะมีการร้องเรียนเรื่องราวก็สาหัสแล้ว และต้องมีการบำบัดปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำด้วย” น.ส.สุเพ็ญศรี กล่าว

น.ส.อรุณี ศรีโต นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า ได้ทำการศึกษาและแก้ปัญหาความรุนแรงในเด็กและสตรีของชุมชนไทยเกรียงพัฒนา ตำบลบางจาก จังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่ปี 2547 พบว่า สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในเด็กและสตรี คือยาเสพติดและการดื่มสุรา ซึ่งสาเหตุมาจากครอบครัว มีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย มีความเครียด ความไม่มั่นคงของที่พักอาศัยและงานที่ทำ โดยเฉลี่ยผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำมีค่าใช้จ่ายคิดเป็นเงินมากถึง 18,250 บาทต่อปี จากสาเหตุที่กล่าวมาทำให้เด็กถูกครอบครัวละเลยการดูแล ปล่อยให้เด็กดำเนินชีวิตด้วยตนเอง กลายเป็นเด็กติดเกมส์ มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย หากผู้ปกครองดื่มสุราด้วยจะมีปัญหาการทำร้ายร่างกายตามมา ซึ่งกลายเป็นเรื่องปกติในชุมชน

“เมื่อปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการดื่มสุรา ดังนั้น การแก้ปัญหาความรุนแรงก็ต้องแก้ปัญหาการดื่มสุราควบคู่ได้ด้วย การทำงานของศูนย์ฯจะเน้นการเข้าถึงชุมชนแบบเป็นกันเอง ถามความเป็นอยู่แล้วจึงเข้าถึงปัญหาที่เขาเผชิญอยู่ ซึ่งสมาชิกของศูนย์ปัจจุบันมี 17 คน ฉะนั้น จึงดึง อสม.มามีส่วนร่วมด้วย เพราะ อสม.สามารถเข้าถึงประชาชนในชุมชนได้และเข้าใจชาวบ้านมากกว่า และหากพบว่า บ้านใดใช้ความรุนแรงจะมีการแจ้งมายังสมาคมฯ เพื่อเข้าทำการช่วยเหลือ และพูดคุย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ประสบปัญหา จึงอยากให้ภาครัฐ โยเฉพาะหน่วยงานท้องถิ่นมีนโยบายและงบประมาณที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาเรื่องความรุนแรงในเด็กและสตรี เช่นในสถานีตำรวจควรจะมีตำรวจสอบสวนหญิงเพื่อใช้ในกรณีที่ผู้ประสบปัญหาถูกกระทำชำเลา เพราะจะช่วยให้การแก้ปัญหาง่ายขึ้น” นายกสมาคม กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น