xs
xsm
sm
md
lg

ทีดีอาร์ไอติง 1 แท็บเล็ต 1 นักเรียน ต้องไม่ใช่แค่ของเล่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทีดีอาร์ไอประเมินผลกระทบ “แจกแท็บเล็ต” ฟรี จาก นร.กลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ จำนวนกว่า 6,000 คน พบการใช้คอมพิวเตอร์มีผลต่อคะแนนสอบต่างกันตามลักษณะการใช้ ติงต้องไม่ใช่แค่ของเล่น ย้ำ ต้องมีระบบควบคุมมาตรฐานชัดเจน

ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ : TDRI ) ได้ทำการศึกษาประเมินผลกระทบโครงการหนึ่งคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตต่อหนึ่งนักเรียน โดยได้ใช้ข้อมูลที่เก็บโดย OECD Programme for International Student Assessment หรือ PISA ซึ่งทำการวัดความสามารถทางด้านการใช้ภาษา วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ของนักเรียนอายุ 15 ปี ใน 65 ประเทศ ซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย จำนวนนักเรียนในกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิเคราะห์มี 6,192 คน โดยการสุ่มตัวอย่างของ PISA ถูกออกแบบให้สะท้อนถึงนักเรียนทั่วประเทศ การศึกษานี้แบ่งนักเรียนออกเป็น 4 กลุ่ม โดยแยกตามลักษณะการใช้คอมพิวเตอร์ ได้แก่ 1.ใช้เกือบทุกวันเพื่อการศึกษาเพียงอย่างเดียว เช่น ใช้ software เพื่อการเรียน ใช้ spreadsheet หรือใช้ในการค้นคว้าหาข้อมูล เป็นต้น (945 คน) 2.ใช้เกือบทุกวันเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว เช่น ใช้เพื่อเล่นเกม หรือ download เพลงเป็นต้น (351 คน) 3.ใช้เกือบทุกวันเพื่อการศึกษา และความบันเทิง (1,473 คน) 4.ใช้เพียงไม่กี่ครั้งต่ออาทิตย์ หรือไม่ใช้เลย (3,423 คน)
 
 ดร.ดิลกะ  กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การวัดผลกระทบของการใช้คอมพิวเตอร์นั้นไม่สามารถทำได้โดยการนำคะแนนเฉลี่ยของแต่ละกลุ่มมาเปรียบเทียบกันตรงๆ เนื่องจากเด็กที่ไม่มีโอกาสใช้คอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่เสียเปรียบทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ครอบครัวยากจน พ่อแม่มีการศึกษาต่ำ หรือมาจากโรงเรียนที่มีทรัพยากรน้อย เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีความสัมพันธ์อย่างมากต่อความสามารถทางการศึกษาของเด็ก การศึกษาจึงต้องนำเทคนิคทางเศรษฐมิติมาใช้ เพื่อปรับลักษณะสำคัญต่างๆ ที่กล่าวมาของเด็กใน 4 กลุ่มให้มีความทัดเทียมกันก่อน จึงจะสามารถวัดผลกระทบจากการใช้คอมพิวเตอร์ในลักษณะต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วได้ และในงานวิจัยนี้วัดผลกระทบต่อคะแนนสอบ PISA ในวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์เท่านั้น

ดร.ดิลกะ กล่าวเพิ่มว่า  ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าผลกระทบของการใช้คอมพิวเตอร์ต่อคะแนนสอบ นั้นมีความแตกต่างกันตามลักษณะการใช้ โดยการใช้เพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียวบ่อยๆ มีผลในทางลบต่อคะแนนเฉลี่ยในวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เท่ากับ 16 และ 11 คะแนนตามลำดับ ทั้งนี้ สำหรับนักเรียนที่มีความสามารถในระดับมัธยฐานของประเทศ (หรือเปอร์เซ็นไทล์ที่ 50) ผลกระทบในทางลบดังกล่าวเทียบเท่ากับ 10 เปอร์เซ็นไทล์สำหรับวิชาวิทยาศาสตร์ และ 6 เปอร์เซ็นไทล์สำหรับวิชาคณิตศาสตร์ ในทางกลับกัน พบว่า การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาเพียงอย่างเดียวมีผลในทางบวก 1 คะแนนสำหรับวิชาวิทยาศาสตร์ และ 2 คะแนนสำหรับวิชาคณิตศาสตร์ แต่ผลดังกล่าวไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการศึกษาในต่างประเทศส่วนมากก็ไม่พบว่าการใช้คอมพิวเตอร์ หรือ software เพื่อการเรียนการสอนมีผลกระทบในทางบวกต่อคะแนนสอบของนักเรียนเช่นกัน หรือถ้ามีก็ไม่มาก หรือจะมีเพียงบาง software เท่านั้น ประเด็นที่สำคัญ คือ หากการออกแบบสื่อการเรียนการสอนของไทยไม่ดีเพียงพอ หรือโรงเรียน และผู้ปกครองไม่สามารถควบคุมการใช้ให้ถูกวิธีได้ การดำเนินโครงการนี้โดยไม่มีการวางแผนที่ดีจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเด็ก การใช้จ่ายงบประมาณในครั้งนี้จะเป็นการสูญเปล่าอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะระบบการศึกษาของไทยในปัจจุบันต้องยอมรับว่าเป็นระบบที่ล้มเหลว และต้องการการปฏิรูปรอบด้านอย่างจริงจังและถูกทาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพครู การออกแบบหลักสูตร ความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพการศึกษาที่มีอยู่มาก และแม้แต่การออกข้อสอบกลางเพื่อใช้ประเมินคุณภาพนักเรียนและโรงเรียนทั่วประเทศก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

“ดังนั้น ผลสำเร็จของการแจก 1 คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตต่อ 1 นักเรียน สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การใส่อะไรไว้ในแท็บเล็ต และครูและผู้ปกครองจะมีส่วนร่วมควบคุมให้เกิดการใช้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร จึงจะทำให้แท็บเล็ตเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเรียนการสอนที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการศึกษาของเด็กได้” ดร.ดิลกะ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น