xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.ห่วงเด็กตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
กสทช.ชี้ อัตราการเข้าถึงโซเชียลเน็ตเวิร์กในอนาคตเพิ่มสูงขึ้น ห่วงเด็กขาดการกลั่นกรอง อาจทำให้เป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ระบุ ใช้ไอซีทีเพื่อการสอนดี แต่ควรสอนให้เด็กรู้เท่าทัน และวิเคราะห์ความเชื่อถือของข้อมูลได้ ด้าน “เบญจลักษณ์” เผย อาจมีการจัดหาตำแหน่งใหม่ที่เกี่ยวข้องกับด้านสารสนเทศประจำ ร.ร.เพื่อรองรับการใช้แท็บเล็ต

วันนี้ (5 ม.ค.) ที่หอประชุม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดการเสวนาหัวข้อ “สังคมไทย ควรเตรียมการอย่างไร..เพื่อให้เด็กไทยเท่าทันโทรคมนาคม” โดยมี นายประวิทย์ สี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม นายชาญวิทย์ ทับสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) นางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) และนายธีรวุฒิ อุปฐาก ตัวแทนเยาวชนกลุ่มระบัดใบ จาก จ.ระนอง ร่วมเสวนา

นายประวิทย์ กล่าวระหว่างการเสวนาตอนหนึ่ง ว่า ในโลกอนาคตนั้นเทคโนโลยีมีความจำเป็น โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือนั้น จะเป็นอุปกรณ์ที่ทุกคนต้องมี แม้กระทั่งเด็กในวัยเรียน แต่ต้องตั้งคำถามอุปกรณ์เหล่านี้ควรเหมาะสมกับผู้ใช้ในวัยใด อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจข้อมูลจากทั่วโลกนั้นส่วนใหญ่สะท้อนว่า อายุขั้นต่ำของผู้ครอบครองโทรศัพท์มือถือน้อยลงเรื่อยๆ จากอายุสองหลักมาถึงปัจจุบันอยู่ที่หลักเดียว ทั้งนี้ จากนโยบายการแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนนั้น สิ่งที่ต้องตระหนัก นั่นคือ เรื่องของความปลอดภัยในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงข้อมูลผ่านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ปัจจุบันนั้นกลุ่มธุรกิจบริการจะเจาะกลุ่มตลาดมายังเยาวชนมากกว่าคนวัยทำงาน และเด็กส่วนใหญ่มักจะกลายเป็นเหยื่อด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

นอกจากนี้ ในอนาคตอัตราการเข้าใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network) จะมากกว่าการใช้งานการส่งข้อความ SMS เช่น การเล่นเฟซบุ๊ก (Facebook) การเล่น MSN เป็นต้น ซึ่งการเข้าถึงดังกล่าวนั้นในวัยเด็กมักจะขาดการกลั่นกรอง และกลายเป็นจุดอ่อนให้กลุ่มมิจฉาชีพใช้ช่องว่างตรงนี้มาหลอกล่อเด็ก ซึ่งยังรู้ไม่เท่าทัน เพราะฉะนั้น การจะนำไอซีทีมาใช้เพื่อการเรียนการสอนนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องทำให้เด็กได้ใช้อย่างเกิดประโยชน์ และต้องเตรียมพร้อมให้เด็กมีทักษะการใช้ที่เหมาะสมกับวัย เช่น การแจกแท็บเล็ต ป.1 ที่ภาษายังไม่แข็งนั้น ควรจะเริ่มเรื่องที่เป็นแอปพลิเคชันที่ให้ความรู้ความสวยงามของภาพ ซึ่งการเรียนรู้ก็ควรส่งเสริมทั้งอาจารย์และนักเรียน และสอนให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองได้อย่างถูกต้อง และวิเคราะห์ข้อมูลเองได้ว่าสิ่งที่เขาพบเจอจากการใช้สื่อไอซีที และอินเทอร์เน็ตนั้น ข้อมูลใดเชื่อถือได้และไม่ได้

นางเบญจลักษณ์ กล่าวว่า เทคโนโลยีมีความจำเป็นมากขึ้น ทั้งปัจจุบันและอนาคต ทุกวันนี้เด็กใช้เวลากับการใช้สืบค้นข้อมูลเป็นเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งในการเรียนการสอนของโรงเรียนที่ผ่านมา ได้นำเรื่องเหล่านี้มาช่วยในการกระตุ้นความสนใจให้เด็กได้เรียนรู้การใช้เครื่องมือและการเข้าถึงข้อมูล แต่ก็ได้สอดแทรกเรื่องศีลธรรม จริยธรรม ผ่านการทำกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ขณะนี้มิติการสร้างสื่อสร้างสรรค์ และสื่อที่ให้ความสนุกสนานนั้น ยังไม่มีความพอดี ส่วนใหญ่มุ่งเน้นเรื่องความสนุกสนานมากกว่า ทั้งนี้ ในส่วนของเนื้อหาที่จะบรรจุในแท็บเล็ตนั้น ศธ.ก็ได้มีการพัฒนาเนื้อหาที่เหมาะสม ขณะเดียวกัน ก็จะพัฒนาครูให้มีความรู้ในการใช้การสอนที่เหมาะสมด้วย นอกจากนี้ ได้มีการหารือกันด้วยว่าอาจต้องมีตำแหน่งใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลด้านผู้จัดการฝ่ายสารสนเทศ ประจำที่โรงเรียน เพื่อช่วยเป็นที่ปรึกษาในการใช้แท็บเล็ต เป็นต้น

ด้าน นายชาญวิทย์ กล่าวว่า ในส่วนของ สช.นั้น มีเด็กที่มีศักยภาพสูงในการซื้อแท็บเล็ตด้วยตนเองคิดเป็น 10% ของจำนวนนักเรียนทั้งหมดที่เหลือก็ต้องรอได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ในการเตรียมพร้อมนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ รมว.ศึกษาธิการ ให้การบ้านทุกหน่วยงานทั้ง สช. สพฐ.ไปเตรียมความพร้อมเรื่องหลักสูตร ความพร้อมของครูผู้สอน รวมถึงการสอบถามความเห็นของผู้ปกครองว่าต้องการให้บุตรหลานใช้เครื่องมือใด ซึ่งเท่าที่สอบถามมีทั้งต้องการให้ใช้แท็บเล็ต และใช้หนังสือเรียน เป็นการบ้านสำคัญที่เราพยายามหาวิธีการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา การเปลี่ยนแปลงการศึกษาได้พยายามดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม
กำลังโหลดความคิดเห็น