สธ.เตือนระวังพิษจากการเผาซากพืช ช่วงหน้าแล้ง หวั่นก่อระบบทางเดินหายใจ หลังพบป่วยระบบทางเดินหายใจสูงสุด 1 แสนราย แนะอย่าก่อไฟผิงในที่เสี่ยงตายเพราะขาดอากาศหายใจ ย้ำ หากผ่านการสัมผัสฝุ่นควันให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดหน้า
นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงปัญหาการเผาซังข้าว และซากพืชในช่วงเข้าสู่ฤดูแล้งว่า โดยปกติแล้วสถานการณ์การเผาซากพืชนั้นมักจะเกิดขึ้นในภาคเหนือ ซึ่งจะเกิดขึ้นประมาณเดือน ก.พ.- มี.ค.เพราะเป็นช่วงที่แล้งมากที่สุด โดยทางกระทรวงจะมีการเฝ้าระวังในเรื่องการเจ็บป่วยทางระบบทางเดินหายใจ โดยปี 2554 นั้นยังไม่พบโรงพยาบาลแห่งใดรายงานเข้ามา แต่ในปี 2553 นั้น พบรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาประมาณ 1 หมื่นราย จากสถานการณ์การป่วยยอดสูงสุดในระหว่างปี 2552- 2553 ประมาณ 1 แสนราย โดยมีทั้งโรคหอบ หืด ปอดอักเสบเรื้อรัง ไอเรื้อรัง และระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ
นพ.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า เนื่องจากควันพิษจากการเผาป่า ยังเป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้น จึงอยากเตือนให้ประชาชนระวังสุขภาพให้ดี โดยหากอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือพบเจอควันจากการเผาไหม้บ่อยๆ ให้มีการสวมหน้ากากอนามัยป้องกันการสูดควันพิษด้วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้เป็นภูมิแพ้ หรือหากบังเอิญไปสัมผัสควันพิษมา เช่น ชาวนาที่ต้องทำการเผาซังข้าว ก็ควรที่จะใช้ผ้าชุบน้ำมาเช็ดหน้าด้วย และควรเผาแบบสลับเวลา อย่าเผาติดต่อกัน เพราะจะเพิ่มปัญหาควันพิษมากขึ้น
“นอกจากนี้ ยังมีอีกประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง คือ เรื่องของการก่อไฟในที่อับและไม่มีอากาศถ่ายเทด้วย โดยในปีที่ 2553 พบก๊าซพิษคาร์บอนมอนออกไซด์ จากไฟตะเกียง ซึ่งเป็นการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 7-8 ราย ดังนั้น จึงอยากให้มีการเผฝ้าระวังเรื่องนี้ด้วย โดยหากทนอากาศหนาวไม่ไหวก็ควรจะจุดไฟผิงในที่โล่งจะดีที่สุด แต่ต้องแน่ใจว่าไม่ได้เป็นคนภูมิแพ้ เพราะนอกจากมีปัญหากับระบบทางเดินหายใจแล้ว ก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดผื่นคันจากฝุ่นควันได้” นพ.สมเกียรติ กล่าว