เปิดโครงการครูคืนถิ่น อย่างเป็นทางการ หวังคืนความสุขให้ครูได้กลับไปอยู่กับครอบครัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสอน “วรวัจน์” ยันไม่มีการจ่ายเงินเพื่อวิ่งเต้นคืนถิ่นแน่นอน ขณะที่ ครูอาชีวะยื่นขอร่วมโครงการแล้วกว่า 1,900 ราย
ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดโครงการครูคืนถิ่น โดยมีครูจากทั่วประเทศเข้าร่วมประมาณ 500 คนพร้อมด้วยผู้บริหาร ศธ.ได้แก่ นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัด ศธ. นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ปัจจุบัน ศธ.มีข้าราชการครู 650,000 คน ในจำนวนนี้มี 126,897 คนที่ต้องออกไปทำงานนอกภูมิลำเนาของตนเอง ไม่ได้อยู่กับครอบครัวซึ่งแต่ละปีมีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษายื่นคำร้องขอกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก ทำให้ครูกลุ่มนี้ขาดกำลังใจในการทำงานทำให้ประสิทธิภาพในการสอนลดลง รัฐบาลจึงมีโครงการครูคืนถิ่นเพื่อเป็นขวัญกำลังใจครู
สาระสำคัญของนโยบายนี้ คือ การเปิดโอกาสให้ข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา และศึกษานิเทศก์ ยื่นคำร้องข้อย้ายกลับภูมิลำเนาได้ โดยให้ยื่นคำร้องที่สถานศึกษาของตนเองตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่นี้ยื่นคำร้องที่สถานศึกษาของตนเองตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ธ.ค.นี้ ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องข้อย้ายได้ จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ที่ไม่ใช่ภูมิลำเนามาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยมีองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณา คือ ระยะเวลาที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ทีไม่ใช่ภูมิลำเนา ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์และความอาวุโสทางราชการ โดยศธ.จะดำเนินการย้ายให้แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2555 ในวันที่ 17 พ.ค. 2555
“ครูจำนวนมากต้องบรรจุต่างถิ่น จากครอบครัว พ่อแม่ ญาติพี่น้องไปอยู่คนละทิศละทาง บางคนต้องจากบ้านไปกว่า 30 ปี แต่พออยากจะกลับบ้านก็ต้องเสียเงินวิ่งเต้นขอย้ายกลับ เป็นการทำลายขวัญกำลังใจของครู ประสิทธิภาพการสอนก็ลดลง เพราะต้องคอยเทียวไปกลับระหว่างบ้านกับโรงเรียน ความสุขในชีวิตครูก็หายไป เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงทำโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อคืนความสุขให้ครูทุกคน ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการสอนกลับมาด้วย แต่ผมขอยำว่าจะต้องไม่มีใครต้องจ่ายเงินเพื่อขอย้ายกลับบ้าน” นายวรวัจน์กล่าว และว่า ยอมรับว่าการส่งครูกลับบ้านเป็นสิ่งที่ดำเนินการได้ยากมาก เพราะนี่เป็นการหมุนเวียนข้าราชการครูครั้งใหญ่ มีครูนับแสนคนรอคอยอย่างใจจดใจจ่อ ซึ่ง ศธ.จะพยายามส่งครูกลับบ้านให้ได้มากที่สุด ให้ครูผู้เสียสละได้มีโอกาสกลับไปอยู่กับครอบครัวของตัวเอ ง โดยเกณฑ์ที่จะพิจารณาเป็นอันดับแรกๆ คือการของย้ายกลับไปอยู่กับครอบครัว และย้ายกลับไปอยู่กับพ่อแม่
ด้าน นายชัยพฤกษ์กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้ครูที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการยื่นความจำนงมาโดยตรงที่ สอศ. ซึ่งขณะนี้มีครู อาจารย์จากวิทยาลัยในสังกัดยื่นมาแล้วกว่า 1,900 คน