ผู้ว่าฯ กทม.เตือน 3 แขวง “แขวงฉิมพลี-ตลิ่งชัน-บางระมาด” เตรียมอพยพ เผยประกาศเป็นพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษแล้ว หลังพบน้ำเจ้าพระยาจะหนุนสูงถึง 2.53 ม.ในบริเวณปากคลองตลาด พร้อมเร่งแก้ปัญหาน้ำ ถ.พหลโยธิน
วันนี้ (30 ต.ค.) ที่ศาลาว่าการ กทม. เวลา 11.00 น. : ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กทม.กล่าวถึงสถานการณ์ท่วมว่า กทม.ยังได้ลงนามประกาศให้ แขวงฉิมพลี แขวงตลิ่งชัน แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน เป็นเขตเฝ้าระวังพิเศษ และจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนที่อาศัยในแขวงฉิมพลี แขวงตลิ่งชัน แขวงระมาด เขตตลิ่งชัน เตรียมพร้อมในการอพยพทุกขณะระดับน้ำเจ้าพระยาทุบสถิติอีกครั้งที่ระดับ 2.53 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
สำหรับสถานการณ์น้ำในวันนี้ น้ำทะเลหนุนสูงสุดเวลา 10.21 น.ที่ระดับ 1.30 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองตลาดจะสูงสุดที่ระดับ 2.53 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ทำให้พื้นที่ทรงวาด และสามเสน 21 และ 23 ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำเจ้าพระยา ส่วนปริมาณน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และพระราม 6 รวม 3,254 ลบ.ม./วินาที ลดลงจากเมื่อวาน 27 ลบ.ม./วินาที ขณะที่ปริมาณน้ำผ่าน อ.บางไทร ไม่สามารถตรวจวัดได้ เนื่องจากระดับน้ำสูงเกินค่าตลิ่ง โดยระดับน้ำที่อ.บางไทร สูง 4.11 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ลดลงจากเมื่อวาน 3 ซม. ขณะที่ระดับน้ำในคลองหกวาสายล่าง และระดับน้ำที่ประตูระบายน้ำคลองทวีวัฒนา สูงเพิ่มขึ้นอีก 8 ซม. ส่วนคลองเปรมประชากรในพื้นที่เขตจตุจักร เพิ่มขึ้นอีก 10 ซม. เขตดอนเมืองน้ำท่วมเกือบ 100% ต้องเร่งแก้ต้นเหตุน้ำบริเวณถ.พหลโยธินตัดคลองรังสิต
ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวด้วยว่า ขณะนี้พื้นที่เขตดอนเมือง เกิดภาวะน้ำท่วมเกือบจะเต็ม 100% โดย กทม. ได้เร่งแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ทั้งนี้จำเป็นต้องแก้ไขที่มาของน้ำท่วมเขตดอนเมือง ซึ่งเกิดจากน้ำในคลองรังสิตไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ตั้งแต่บริเวณ ถ.พหลโยธินตัดคลองรังสิต และพื้นที่บริเวณจังหวัดปทุมธานี ซึ่งหากไม่สกัดน้ำในบริเวณดังกล่าวจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาในเขตดอนเมือง ถ.วิภาวดี และถ.พหลโยธินได้ ทั้งนี้ กทม.ได้ทำหนังสือถึง ศปภ.ให้ดำเนินการสกัดน้ำที่ไหลมาจากคลองรังสิต บริเวณถนนพหลโยธินตัดคลองรังสิต ขณะนี้บุคลากรของ กทม.ได้กระจายไปแก้ไขจุดน้ำท่วมต่างๆ ที่สำคัญ แต่ก็พร้อมที่จะเป็นกำลังในการบริหารจัดการของพื้นที่ดังกล่าว พบปัญหาขยะ และน้ำเสียในพื้นที่น้ำท่วม
นอกจากนี้ ปัญหาที่พบเพิ่มเติม คือ ปัญหาขยะ และปัญหาน้ำเสีย โดยในส่วนของปัญหาขยะซึ่งมีจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปดำเนินการจัดเก็บแต่เนื่องจากน้ำท่วมขังสูง ทำให้รถเก็บขนมูลฝอยของกทม.เสียหายเนื่องจากน้ำเข้าเครื่อง จำนวน 4 คัน ต้องใช้เรือในการเก็บขนมูลฝอยเพื่อแก้ปัญหาขยะตกค้าง และทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพมากนัก จะต้องขอความร่วมมือจากประชาชนในการลดปริมาณขยะมูลฝอยภายในครัวเรือนด้วย ขณะที่ปัญหาน้ำเน่าเสีย นั้น กทม.จะนำจุลินทรีย์บอลเพื่อเข้าไปช่วยบำบัดน้ำเสียในพื้นที่น้ำท่วมขัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เขตดอนเมือง และเขตบางพลัด จากนั้นจะติดตามผลในการดำเนินการปิดศูนย์พักพิง 10 แห่งใน 4 เขต
ปัจจุบันมีประชาชนเดินทางเข้าพักยังศูนย์พักพิง กทม.แล้ว 10,343 คน ลดลง 406 คน เนื่องจากเคลื่อนย้ายไปยังศูนย์พักพิงต่างจังหวัด ขณะที่ กทม.เปิดให้โรงเรียนสังกัด กทม.ทั้งหมด 436 แห่ง เป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว แต่ขณะนี้ได้ปิดศูนย์พักพิงไป 10 แห่งเนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมสูง ทำให้เหลือโรงเรียนรองรับผู้ประสบอุทกภัย 426 โรงเรียน โดยศูนย์พักพิงที่ปิดไป 10 แห่ง ในพื้นที่ 4 เขต ประกอบด้วย พื้นที่เขตดอนเมือง 5 แห่ง โรงเรียนวัดเวฬุวนาราม โรงเรียนพหลโยธิน โรงเรียนเปรมประชา โรงเรียนประชาอุทิศ และโรงเรียนบำรุงรวิวรรณ พื้นที่เขตสายไหม 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวัดเกาะสุวรรณาราม และโรงเรียนซอยแอนเนกซ์ พื้นที่เขตคลองสามวา 1 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนสุเหร่าสามวา พื้นที่เขตทวีวัฒนา 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนคลองต้นไทร และโรงเรียนคลองทวีวัฒนา