xs
xsm
sm
md
lg

“ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ” เมื่อไทยต้องเป็นผู้นำ “สุขภาพ” / คอลัมน์ ส่องฅนคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ
เมื่อไทยต้องเป็นผู้นำ  “สุขภาพ”  

กับบทบาทเลขาฯ สสส.โลก ของ“ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ”

จารยา บุญมาก

คร่ำหวอดในวงการมือปราบบุหรี่ในประเทศไทยมานาน ในที่สุดการก้าวสู่ตำแหน่งเลขาธิการเครือข่ายกองทุนสร้างเสริมสุขภาพนานาชาติ(The International Network of heath Promotion Foundations-INHPF) หรือ สสส.โลก  ของ  ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ  เลขาธิการ “มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่” ก็เป็นอีกความภูมิใจที่พิสูจน์ให้ทั่วโลกประจักษ์ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพแม้จะมีฐานะเป็นประเทศกำลังพัฒนาแต่ก็สามารถเป็นหนึ่งในผู้นำของการส่งเสริมสุขภาพได้

ศ.นพ.ประกิต  เล่าว่า การก้าวเข้ามาเป็นเลขาธิการ สสส.โลก นั่นหมายถึงภาระงานที่มากขึ้นในเรื่องการผลักดันให้มีประเทศอื่นๆเข้าร่วมสมาชิกหลัก (Full Members) ราวปีละ 2 ประเทศ ซึ่งขณะนี้มีประเทศที่มีองค์กรเช่นเดียวกับกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพของ(สสส.) แต่ยังไม่ได้เข้าเป็นประเทศสมาชิก เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน  โดยคาดว่าในฐานะเลขาธิการ จะดำเนินการผลักดันต่อไปเพราะประเทศดังกล่าวมีความเข้มแข็งในการจัดการระบบสุขภาพได้ดี

นอกจากการผลักดันให้เกิดประเทศสมาชิกแล้ว ไทยยังต้องทำหน้าที่สนับสนุนประเทศอื่นให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพด้วย โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ไทยได้สนับสนุนเงิน 1.5 ล้านบาท ให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่กำลังมีการดำเนินการจัดตั้งกองทุนยาสูบ อุบัติเหตุ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสร้างเสริมสุขภาพในชุมชนซึ่งมีลักษณะเดียวกับประเทศไทย ที่ใช้เงินจากภาษีสุราและยาสูบ เพื่อจะได้ก่อเกิดเครือข่ายระดับภูมิภาคที่ทำให้มาตรการส่งเสริมสุขภาพเข้มแข็งขึ้น

“ผมว่าการพัฒนาระบบสร้างเสริมสุขภาพนั้น ในยุคนี้หลายประเทศสามารถบริหารจัดการเองได้  ซึ่งแต่ละแห่งจะแตกต่างกัน  ดังนั้นถ้าเอาข้อมูลมาแชร์กันในฐานะเวทีโลก ซึ่ง สสส.โลกจะต้องจัดประชุมทุกปี  ย่อมเป็นเรื่องดี และผมคิดว่า นี่และผนึกกำลังระบบสร้างเสริมสุขภาพที่แท้จริง” ศ.นพ.ประกิต   ย้ำชัดในพันธกิจของเลขาธิการ สสส.โลกคนใหม่
นพ.ประกิต ขณะร่วมประชุมที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
หากถามถึงมุมมองของระบบสุขภาพเชิงรุกว่ามีส่วนสอดคล้องกับระบบสุขภาพเชิงรับอย่างไร ศ.นพ.ประกิต   กล่าวว่า ต้องก้าวไปพร้อมๆ กัน แต่ต้องมอบบทบาทให้ตรงตามเป้าหมาย คือ ประชาชนโลกต้องช่วยตนเองให้มีการป้องกันสุขภาพ  เช่น ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์  และไม่กินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ซึ่งส่วนนี้ ต้องมีองค์กรสุขภาพ คอยผลักดัน ขณะที่ระบบสุขภาพเชิงรับ อย่างเรื่องการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งส่วนมากรัฐบาลจะเป็นผู้ควบคุม ควรที่จะต้องรับหน้าที่ดูแลผู้ป่วย หรืออาจส่งเสริมสุขภาพแก่ผู้ป่วยในช่วงหลังรับการรักษาได้ แต่ต้องกระจายอำนาจให้องค์กรสุขภาพ ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายภาคประชาชนนับร้อย ได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมส่งเสริมเสมอ เพราะการสื่อสารในระดับกลุ่มคนใกล้ชิดมีประสิทธิผลมากกว่า  เนื่องจากในชีวิตจริงประชาชนพบแพทย์แค่ระยะเวลาสั้นๆช่วงของการตรวจรักษา แต่ไม่ได้มีเวลาในการพูดคุย หรือ สื่อสารกันอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ในเรื่องของกรอบยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานด้านสุขภาพนั้น ศ.นพ.ประกิต ระบุชัดว่า จะต้องทำให้ดีที่สุดตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ดำรงตำแหน่ง โดยจะประสานงานกับประเทศสมาชิกซึ่งประกอบไปด้วย สมาชิกหลักอยู่แล้ว  8 องค์กรจาก  7 ประเทศ ได้แก่  ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย ไทย ตองกา สสส.แห่งรัฐวิกตอเรีย ออสเตรเลีย และสสส.ออสเตรเลียตะวันตก และสมาชิกรอง(Associate member) คือ แคนาดา โคลัมเบีย ฮังการี อินเดีย มองโกเลีย โอมาน  เพื่อขับเคลื่อนระบบอย่างมีประสิทธิภาพ และที่คาดหวังไว้สูงสุด คือ การผลักดัน  สสส.ของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลให้ได้ โดยจะเรียนรู้และเผยแพร่ประสบการณ์ในการบริหารจัดการกองทุนสร้างเสริมสุขภาพกับสมาชิกของเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

แม้จะเป็นเลขาธิการ สสส.ป้ายแดง ก็ตาม แต่ด้วยประสบการณ์ที่ได้พัฒนางานระดับหิน อย่างมาตรการปราบบุหรี่จนประสบผลสำเร็จ เช่น เรื่องการจำกัดพื้นที่สูบอย่างเหมาะสม  เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพคนไทย  ตลอดจนดึงหน่วยงานอื่นๆ มาร่วมในการรณรงค์งดสูบบุหรี่ที่กระจายทั่วประเทศไทย ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นของพลังสร้างเสริมสุขภาพที่ดีไม่น้อย แต่เมื่อภาระงานใหญ่เข้ามาท้าท้าย เลขาธิการ สสส.โลกท่านนี้ก็สัญญาไว้แล้วว่า พร้อมจะรับบทบาทอย่างภาคภูมิใจ และทำให้ดีไม่แพ้ภาระอื่นที่เคยสัมผัสมา  ส่วนประเทศไทยและประเทศสมาชิก สสส.โลกจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรคงต้องรอติดตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น