xs
xsm
sm
md
lg

รับมือสถานการณ์ “ไฟดูด” ความเสี่ยงที่มากับ “น้ำท่วม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากมหาอุทกภัยที่กำลังถล่มประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ ทำให้มีผู้เดือดร้อนจำนวนมหาศาล มีผู้เสียชีวิตจำนวนไม่น้อย และอีกมากมายที่จำต้องทิ้งบ้านเอาไว้จมบาดาล ออกจากพื้นที่มาอยู่ในศูนย์พักพิงที่เปิดขึ้นจากน้ำใจคนไทยเพื่อซับน้ำตาคนไทยด้วยกันที่มีอยู่หลายแห่ง และนอกจากการจมน้ำเสียชีวิตแล้ว สาเหตุหนึ่งที่เป็นข่าวอยู่ในระยะหลังของเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ คือการเสียชีวิตจากการถูกไฟดูด จึงมีทิปเล็กๆ น้อยๆ แต่สำคัญและเป็นเคล็ดลับในการที่จะช่วยชีวิตได้จากเหตุการณ์ไฟดูด

ข้อมูลจากฝ่ายป้องกันอุบัติภัย การไฟฟ้านครหลวง ระบุว่า ผู้ที่จะเข้าไปช่วยต้องรู้จักวิธีที่ถูกต้องในการช่วยเหลือผู้ได้รับอันตรายจากไฟฟ้าจะต้องมีวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง คือ “ห้าม” ใช้มือเปล่าแตะต้องตัวผู้ที่ติดอยู่กับกระแสไฟฟ้า หรือตัวนำที่เป็นต้นเหตุให้เกิดอันตรายเป็นอันขาด เพื่อป้องกันมิให้ถูกกระแสไฟฟ้าจนได้รับอันตรายไปด้วยอีกต่อหนึ่ง, หากทำได้ ให้รีบหาทางตัดกระแสไฟฟ้าโดยฉับไว จะด้วยการถอดปลั๊ก หรืออ้าสวิตช์ออกก็ได้ จากนั้นให้ใช้วัตถุที่ไม่เป็นสื่อไฟฟ้า เช่น ผ้า ไม้แห้ง เชือกที่แห้ง สายยาง หรือพลาสติกที่แห้งสนิท ถุงมือยาง หรือผ้าแห้งพันมือให้หนา แล้วถึงผลักหรือฉุดตัวผู้ประสบอันตรายให้หลุดออกมาโดยเร็ว หรือเขี่ยสายไฟให้หลุดออกจากตัวผู้ประสบอันตราย แต่หากเป็นสายไฟฟ้าแรงสูงให้พยายามหลีกเหลี่ยง แล้วรีบแจ้งการไฟฟ้านครหลวงให้เร็วที่สุด และประการสำคัญ คือ “อย่า” ลงไปในน้ำกรณีที่มีกระแสไฟฟ้าอยู่ในบริเวณที่มีน้ำขัง ต้องหาทางเขี่ยสายไฟฟ้าออกให้พ้น หรือตัดกระแสไฟฟ้าก่อน จึงค่อยไปช่วยผู้ประสบอันตราย

หลังจากช่วยออกมาได้แล้ว หากปรากฏว่าผู้เคราะห์ร้ายที่ช่วยออกมานั้นหมดสติไม่รู้สึกตัว หัวใจหยุดเต้น และไม่หายใจ ซึ่งสังเกตได้จากอาการที่เกิดขึ้นดังนี้ คือ ริมฝีปากเขียว สีหน้าซีดเขียวคล้ำ ทรวงอกเคลื่อนไหวน้อยมาก หรือไม่เคลื่อนไหว ชีพจรบริเวณคอเต้นช้าและเบามาก ถ้าหัวใจหยุดเต้นจะคลำชีพจรไม่พบ ม่านตาขยายค้างไม่หดเล็กลง หมดสติไม่รู้สึกตัว ต้องรีบทำการปฐมพยาบาลทันที เพื่อให้ปอดและหัวใจทำงาน โดยวิธีการผายปอดด้วยการให้ลมทางปาก หรือที่เรียกว่า “เป่าปาก” ร่วมกับการนวดหัวใจก่อนนำผู้ป่วยส่งแพทย์

และจากกรณีมีการส่งต่อข้อความในโซเชียลเน็ตเวิร์กสุดฮิตอย่าง “ทวิตเตอร์” กรณีมีความคลาดเคลื่อนจนก่อความสบสนเกี่ยวกับการสับสะพานไฟ (คัตเอาต์) ในพื้นที่น้ำท่วมนั้น จากการสอบถามไปยัง Call Center ของการไฟฟ้าที่หมายเลขโทรศัพท์ 1129 ได้แจ้งการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องหากต้องการตัดไฟภายในบ้านที่น้ำท่วมว่า

ในกรณีที่มิเตอร์ไม่จมน้ำ แต่น้ำท่วมแล้ว จำเป็นต้องตัดไฟภายในบ้านเพื่อความปลอดภัย ผู้ทำการตัดไฟต้องสับคัตเอาต์ลง ซึ่งต้องอยู่บนพื้นที่แห้ง ตัวแห้ง หรือหากอยู่บนเรือต้องเป็นเรือพลาสติก หรือเรือไม้เท่านั้น ไม่สามารถตัดไฟเมื่อตัวอยู่บนเรือโลหะได้ เพราะโลหะเป็นสื่อนำไฟฟ้า ก่อนสัมผัสมิเตอร์ หรือคัตเอาต์ ให้สังเกตว่า ไม่มีสายไฟฟ้าจมน้ำอยู่ จึงจะสับคัตเอาต์ได้ แต่ในกรณีมิเตอร์จมน้ำแล้ว แนะนำให้สับสะพานไฟในบ้านลงทันที ผู้สับต้องอยู่ในที่แห้ง บนเรือที่ไม่นำไฟฟ้า หรือหากมีไม้แห้งหรือสื่อไม่นำไฟฟ้าสามารถใช้เกี่ยวสับสะพานไฟลงได้ก็จะเพิ่มความปลอดภัยให้มากขึ้น แต่ตัวต้องแห้ง อุปกรณ์เกี่ยวต้องแห้งสนิท และพื้นยืนก็ห้ามมีน้ำหรือความชื้นเด็ดขาด

กรณีที่มิเตอร์จมน้ำและสับคัตเอาต์ลงแล้ว ให้อยู่ห่างจากเสาไฟฟ้าหรือมิเตอร์นั้นหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่จมน้ำอย่างน้อย 1 เมตร ถือว่าเป็นระยะปลอดภัยที่ต่ำที่สุด เพราะไม่แน่ใจว่ามีกระแสไฟฟ้าค้างไหม แต่ถ้าจะให้ดีต้องห่าง 3 เมตร และถ้าผู้ใช้ไฟฟ้าต้องการตัดไฟในพื้นที่ชุมชน ต้องให้ผู้นำชุมชนติดต่อมา เป็นตัวแทน การไฟฟ้าไม่สามารถจะตัดบ้านใดบ้านหนึ่งได้ เพราะแม้ตัดเฉพาะบ้านก็ยังมีกระแสไฟฟ้าวิ่งในสายไฟหลัก ถ้าตัดจะกระทบบ้านหลายหลัง บางหลังมีผู้ป่วยที่อาจต้องใช้อุปกรณ์การแพทย์ที่้ใช้ไฟฟ้า การตัดไฟจึงจำต้องได้รับการยอมรับจากทุกบ้านในชุมชนนั้น และให้ตัวแทนหมู่บ้านเป็นผู้มาร้องขอ สามารถแจ้งตัดไฟ 1129
กำลังโหลดความคิดเห็น