รองปลัด กทม.ประชุมแผนอพยพ เส้นทางและที่พักกับ 9 ผู้อำนวยการเขตฝั่งตะวันออก ชี้ 4 เขตเสี่ยงน้ำท่วม คือ หนองจอก มีนบุรี คลองสามวา ลาดกระบัง เน้นช่วยคนแก่ เด็ก คนป่วย ผู้พิการ เป็นกลุ่มแรก วอนประชาชนอย่าตื่นตระหนก ขอติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด
นพ.พีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานประชุมผู้อำนวยการเขต 9 เขตฝั่งตะวันออกของ กทม.คือ หนองจอก มีนบุรี คลองสามวา ลาดกระบัง บึงกุ่ม สะพานสูง บางกะปิ ประเวศ คันนายาว เพื่อจัดทำแผนอพยพผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยให้เขตคลองสามวาเป็นเจ้าภาพ ซึ่งแต่ละเขตได้นำเสนอขั้นตอนของแผนอพยพ เริ่มจากการจัดทำแผนในเขตอ่อนไหวที่จะประสบภัยน้ำท่วม แผนที่ศูนย์พักพิงและศูนย์ประสานงานกลาง แนวเส้นทางการอพยพ พาหนะที่จะใช้ เช่น รถ และเรือ เจ้าหน้าที่เทศกิจ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ การดูแลทรัพย์สินของมีค่าของผู้อพยพไปแล้ว ข้อมูลความเสียหายและการให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งการฟื้นฟูภายหลังน้ำลด
สาเหตุที่เพิ่มการตั้งรับภาวะน้ำท่วมเป็น 9 เขตฝั่งตะวันออก เนื่องจากสถานการณ์น้ำขณะนี้ไม่น่าไว้วางใจ ยังมีน้ำเหนือมาเพิ่มปริมาณที่จังหวัดนครสวรรค์ และ ปทุมธานี และเป็นด้านที่เขตคลองสามวา และหนองจอก จะรับน้ำจากคลองต่างๆ ของจังหวัดปทุมธานี แม้ กทม.ไม่ต้องการให้ประชาชนแตกตื่น แต่ก็ต้องมีการเตรียมพร้อม ซึ่งเป็นการเตรียมเช่นนี้ทุกปี ซึ่งพื้นที่ของ กทม.มีความแตกต่างจากต่างจังหวัด ที่บ้านเรือนกระจายอยู่ไม่เป็นกลุ่มก้อน การวางแผนอพยพ และเข้าถึงพื้นที่ทำได้ยาก ขณะนี้มีการประเมินการรองรับจำนวนคนที่ศูนย์พักพิง 80 จุด ใน 9 เขต รองรับจุดละ 100 คน รับได้ 8,000-10,000 คน และอาจจะขยายเพิ่มได้อีก
“ผู้ที่จะต้องอพยพอันดับแรก คือ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย คนพิการและเด็ก รองลงไปเป็นกลุ่มที่มีปัญหาในการดำรงชีวิต และคนไร้ที่อยู่ สำหรับใน 4 เขต ที่ซีเรียส คือ หนองจอก มีนบุรี คลองสามวา ลาดกระบัง โดยใช้ความน่าจะเป็น และร่นเข้ามาตามลำดับ โดยดูที่ปริมาณน้ำฝน และน้ำเหนือหลังวันที่ 15 ตุลาคม ที่จะมีอิทธิพลมากที่สุด ไม่อยากให้ประชาชนแตกตื่น อยากให้ฟังข่าวสารอย่างใกล้ชิด วันจันทร์นี้ ผู้บริหาร 4 เขตจะเข้ารายงานแผนอพยพกับที่ประชุมผู้บริหาร” รองปลัด กทม.กล่าว