กทม.ออกจดหมายด่วนที่สุดเชิญร่วมพิธีไล่น้ำ 8 ต.ค.นี้ ที่ศาลหลักเมือง วิงวอนร้องขอแม่พระคงคาช่วยบันดาลให้น้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร ลดลงอย่างรวดเร็ว “สุขุมพันธุ์” หวังคลายความกังวลให้กับคนกทม.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ได้ออกจดหมายด่วนที่สุด ถึงผู้อำนวยการสำนัก และหัวหน้าสำนักงาน ก.ก.ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2554 เรื่อง ขอเรียนเชิญร่วมพิธีไล่น้ำ ด้วยกรุงเทพมหานครได้กำหนดจัดพิธีไล่น้ำ ในวันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2554 เวลา 14.39 น.ณ ศาลหลักเมือง เพื่อวิงวอนร้องขอแม่พระคงคาช่วยบันดาลให้น้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร ลดลงอย่างรวดเร็ว
สำหรับกำหนดการมีรายละเอียดดังนี้ เวลา 14.39 น.พิธีบวงสรวง (พิธีพราหมณ์) และเวลา 15.09 น.พิธีเจริญพระพุทธมนต์ โดยพร้อมกัน เวลา 14.00 น.ณ ศาลหลักเมือง การแต่งกายชุดผ้าไทย หรือ ชุดสุภาพ
นางเพียงใจ วิศรุตรัตน รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การที่กทม.กำหนดการจัดพิธีไล่น้ำขึ้นนั้น ถือเป็นพิธีที่กรุงเทพมหานครจัดขึ้นเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่น เรียกขวัญและกำลังใจให้กับประชาชนชาวกรุงเทพฯ เพื่อให้คลายความกังวลจากสถานการณ์น้ำซึ่งมีแนวโน้มว่าจะท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ โดยพิธีจัดขึ้นเป็นการภายใน ประกอบด้วย พิธีบวงสรวง(พิธีพารหมณ์) ในเวลา 14.39 น. และพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ในเวลา 15.09 น. โดยได้อัญเชิญพระพุทธรูปปางข้ามสมุทร ความสูง 9 นิ้ว มาร่วมในการประกอบพิธีด้วย
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า แนวคิดดังกล่าวเกิดจากที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.เห็นว่าบ้านเมืองกำลังประสบอุทกภัยประชาชนได้รับความเดือดร้อน ดังนั้นในฐานะที่เป็นพ่อเมืองจึงได้ดำริที่จะทำพิธีบวงสรวงสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อบรรเทาปัญหาจากหนักให้กลายเป็นเบา และเป็นการขอพรให้น้ำลงลด
ทั้งนี้ จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า พิธีไล่น้ำหรือเรียกอีกอย่างว่าพิธีไล่เรือเป็นพิธีที่มีมาตั่งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ประกอบขึ้นเพื่อต้องการให้น้ำลดเร็ว ๆ เพราะในเดือนต่อไปถือว่าเป็นการเข้าฤดูเพราะปลูก พระราชพิธีไล่เรือมิได้ประกอบขึ้นทุกปี เพราะถ้าปีไหนน้ำไม่มากก็ไม่ต้องประกอบพิธี มีกฎมณเฑียรบาลครั้งกรุงศรีอยุธยาว่าในการประกอบพิธีนั้น พระเจ้าแผ่นดิน พระอัครมเหสี พระเจ้าลูกยาเธอ หลานเธอและพระสนม แต่งอย่างเต็มยศโบราณลงเรือพระที่นั่ง มีพระยามหาเสนาตีฆ้อง เสด็จไปตามลำน้ำ โดยสมมติพระเจ้าแผ่นดินเป็นเทพยาดา โดยขอให้น้ำถอยลงไป แล้วทำการเชิญพระพุทธปฏิมากรลงเรือพระที่นั่ง แล้วมีเรือสำหรับพระสงฆ์ตามหลัง เรือลำหนึ่งมีพระราชาคณะ ๑ รูป มีฐานที่นั่ง ๒ ข้าง ตรงกลางตั้งเครื่องนมัสการทำการสวดคาถาหล่อพระชัยเป็นคาถาไล่น้ำ (บางครั้งจึงเรียกพิธีไล่เรือว่าเป็นพิธีไล่น้ำด้วย)
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้กระทำพิธีนี้เพียง 2 ครั้ง คือรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 3 การทำพิธีนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จไปประชุมกันที่วัดท้ายเมือง แขวงเมืองนนทบุรี มีอาลักษณ์อ่านคำประกาศตั้งสัตยาธิฐาน นมัสการพระรัตนตรัย เทพยาดารวมทั้งพระเจ้าแผ่นดิน (สมมติเทพ) แล้วอ้างความสัตย์ ซึ่งได้นับถือต่อเทพยาดาทั้งสามคือ วิสุทธิเทพยดา อุปปาติกเทพยดา และสมมติเทพยดา ขอให้น้ำลดลงไปตามประสงค์ พระพุทธรูปที่ใช้ในพระราชพิธีเดิมมีแต่ชื่อพระชัย พระคันธาราษฎร์ ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นพระห้ามสมุทร การทำพิธีคล้ายเสด็จพระราชดำเนินพระกฐิน พิธีนี้ล้มเลิกไปครั้งรัชกาลที่ 5 เป็นการถาวร จะประกอบแต่พระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวายเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะชัยภูมิของกรุงรัตนโกสินทร์นั่นอยู่สูงกว่าระดับน้ำพอสมควรจึงไม่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา