สธ.ลุยปราบปรามผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายทั่วกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล รวม 5 แห่ง ทั้งจับ “เมโกะคลินิก” ย่านจตุจักร จับร้านขายส่งเครื่องมือแพทย์รายใหญ่ระดับประเทศย่านดอนเมือง จับรถบรรทุกเครื่องสำอางผิดกฎหมายย่านวังน้อย และจับบริษัท เนเชอรัล กรีน เอ็นเตอร์ไพร์ส ย่านปทุมธานี มูลค่าของกลางทั้งหมดกว่า 13 ล้านบาท แจ้งข้อหาทุกคดีมีโทษทั้งจำและปรับขั้นสูงสุด
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ สุขวัฒน์ธนกุล รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (รองผบก.ปคบ.) ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ว่า จากนโยบายรัฐบาลให้กวดขันเรื่องการกระทำความผิดที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ รวมถึงการนำยาแก้หวัดไปใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติด โดยให้ดำเนินการกับผู้กระทำผิดกฎหมาย อย่างเคร่งครัด เพื่อคุ้มครองความปลอดภัย ให้แก่ประชาชน นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สนองนโยบายดังกล่าว โดยได้ร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ.ลุยตรวจจับผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายทั่วกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง โดยผลการตรวจจับสถานที่กระทำผิดกฎหมายทั้ง 5 แห่ง ในเดือนกันยายน 2554 สรุปได้ดังนี้ ตรวจสอบสำนักงานใหญ่ของ “เมโกะคลินิก ตั้งอยู่เลขที่ 1094/17-19 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โดยขณะเข้าตรวจค้นพบการผลิตครีม พบวัตถุดิบและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังพบผลิตภัณฑ์ยา เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่อวดสรรพคุณสำหรับทำให้ผิวพรรณเนียน เรียบใส ไร้ริ้วรอย เป็นผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายเก็บอยู่ในคลินิกและพร้อมจะส่งไปยังสาขาต่างๆ ดังนี้
โดยพบผลิตภัณฑ์ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา โดยไม่ได้ขออนุญาตผลิต ได้แก่ meko A-1/2, meko SS-2, meko NC, meko IS CREAM, Meko WL, Vitamin A Gel, Brighten HI, meko MI-Lotion เป็นต้น ซึ่งจากการยืนยันผลการตรวจวิเคราะห์ครีมต่างๆ เหล่านี้ จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบมีการใส่ตัวยา ได้แก่ ยากลุ่ม สเตียรอยด์ ยาแก้สิวที่ผสมวิตามินเอ ยารักษาอาการโรคเลือดแต่มาดัดแปลงรักษาฝ้า ยาฆ่าเชื้อรักษาอาการอักเสบ เช่น ยาครินด้า มัยซิน, ยาเมโทรนิดาโซล และกลุ่มยาปลูกผม ไมน็อกซิดิล รวมทั้งยาขจัดรังแค นอกจากนี้ ยังพบมีการลักลอบนำเข้ายาฉีดกลูตาไธโอน และโบท็อกซ์ ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาด้วย
พบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่จดแจ้งแล้ว แต่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้องและครบถ้วน ได้แก่ ครีมกันแดด TX, meko CLEANSING MILK, meko ATP Lotion, meko ultra UV Protection SPF 60 PA+++, meko facial Soap, meko CR
ครีมล้างเครื่องสำอาง meko Reparative Serum, meko SLIMMING GEL, mekoclinic Sun X Plus, meko LIFT CREAM, ครีมรักษาสิวฝ้า เป็นต้น
พบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง ได้แก่ mekoclinic GLU, mekoclinic Lipo Slim, meko clinic White plus, meko MBT, meko GLA, meko MFO เป็นต้น
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ได้ไปตรวจสอบเมโกะคลินิก สาขาจตุจักร ซึ่งอยู่ห่างจากเมโกะคลินิกสำนักงานใหญ่ประมาณ 500 เมตร จากการตรวจค้นพบยาและเครื่องสำอางผิดกฎหมายเหมือนกับที่สำนักงานใหญ่ จึงยึดของกลางทั้งหมดไว้ดำเนินคดี มูลค่าประมาณ 5,000,000 บาท ในเบื้องต้นจึงได้แจ้งข้อหาดำเนินคดี โดยแยกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
แจ้งข้อหาสำนักงานใหญ่ “เมโกะคลินิก” มีความผิด ได้แก่ 1.ผลิตและขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท 2.ผลิตและขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ 3. ผลิตเครื่องสำอางที่ไม่ได้จดแจ้ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 4.ผลิตเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ 5. ขายอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
โดยแจ้งข้อหา “เมโกะคลินิก” สาขาจตุจักร มีความผิดได้แก่ 1.ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.ขายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.ขายอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
นอกจากนี้ ตรวจสอบร้านตูช็อป ตั้งอยู่เลขที่ 199/192-193 ตลาดใหม่ดอนเมือง แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ ซึ่งผู้บริโภคร้องเรียนว่าเป็นแหล่งขายเครื่องมือแพทย์รายใหญ่ระดับประเทศ ส่งให้กับคลินิกความงาม สปา บิวตี้ ซาลอน ทั่วประเทศ โดยมีโฆษณาในเว็บไซต์ชื่อ www.dnnbeauty.com ผลการตรวจสอบ พบเครื่องมือแพทย์นำเข้าโดยไม่มีใบแจ้งรายการละเอียด คือ Automatic Body keep-fit care จำนวน 6 ชิ้น และ พบเครื่องมือแพทย์นำเข้าโดยไม่มีหนังสือรับรองการนำเข้าจาก อย.ได้แก่ Zirana ชุดชั้นในกระชับสัดส่วน (สีชมพู) ที่ฉลากระบุข้อความอวดอ้างสรรพคุณในทางการแพทย์ว่ามีรังสีอินฟราเรดช่วยรักษาโรค จำนวน 2 ชิ้น, Zirana ชุดชั้นในกระชับสัดส่วน (สีแดง) จำนวน 3 ชิ้น และ An Qi ชุดชั้นในกระชับสัดส่วน ที่ฉลากระบุข้อความอวดอ้างสรรพคุณในทางการแพทย์ว่ามีรังสีอินฟราเรดช่วยรักษาโรค จำนวน 3 ชิ้น
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ได้ไป 3. ตรวจสอบร้านที่อยู่ใกล้เคียง ตั้งอยู่เลขที่ 199/200 แขวงสีกัน เขตดอนเมือง ตรวจพบ-เครื่องมือแพทย์นำเข้าโดยไม่มีใบแจ้งรายการละเอียด ได้แก่ Slimming Belt จำนวน 3 ชิ้น, Magnetic Massage health จำนวน 2 ชิ้น, Slimming Massage Belt จำนวน 3 ชิ้น, ขจัดไขมันที่เอวสายนวด จำนวน 1 ชิ้น, Enjoy maltifunction Footbath จำนวน 1 ชิ้น, Ultrasonic handheld Beauty Stimulator จำนวน 1 ชิ้น, Protable high frequency จำนวน 1 ชิ้น,
Provide with the penetration of infrared ray จำนวน 1 ชิ้น, Sauna foot จำนวน 1 ชิ้น, R radium M 6692 Galvanic จำนวน 1 ชิ้น และ R radium M 3398 Ultrasonic จำนวน 1 ชิ้น เครื่องมือแพทย์นำเข้าโดยไม่มีหนังสือรับรองการนำเข้าจาก อย. ได้แก่ Zirana ชุดชั้นในกระชับสัดส่วน (สีม่วง) ที่ฉลากระบุข้อความอวดอ้างสรรพคุณในทางการแพทย์ว่ามีรังสีอินฟราเรดช่วยรักษาโรค จำนวน 2 ชิ้น, ice Fire Bright จำนวน 1 ชิ้น , Microcrystal Dermabrasion จำนวน 1 ชิ้น , Imtrared thermal skin vivid Dissdue the Lipoprotein จำนวน 1 ชิ้น , R radium M 375 Beauty instrument จำนวน 1 ชิ้น และอะไหล่ หัวจี้กระ (เข็ม) จำนวน 1 ชิ้น
ทั้งนี้ มูลค่าของกลางที่ยึดได้ทั้ง 2 แห่ง ประมาณ 100,000 บาท ในเบื้องต้นจึงได้แจ้งข้อหาดำเนินคดี ดังนี้ 1.นำเข้าเครื่องมือแพทย์โดยไม่จดทะเบียนสถานประกอบการ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท 2.นำเข้าและขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่มีหนังสือรับรองประกอบการนำเข้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.นำเข้าเครื่องมือแพทย์โดยไม่แจ้งรายการละเอียด มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 4.จับรถบรรทุกเครื่องสำอางผิดกฎหมาย เหตุเกิดที่ถนนพหลโยธิน กม.74-75 อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยตำรวจทางหลวง 1 ได้ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหา 2 คน พร้อมด้วยของกลางคือ รถกระบะยี่ห้อ โตโยต้า หมายเลขทะเบียน บห - 8557 นครราชสีมา ตรวจสอบภายในรถ พบบรรทุกเครื่องสำอาง ตลับสีชมพู ระบุ MUI LEE HIANG CREAM FOR ACNE & BLEMISHS ซึ่งเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ได้จดแจ้ง จำนวน 235 ลัง (82,270 ตลับ) ทาง อย.จึงได้ส่งตัวอย่างเครื่องสำอางดังกล่าว
ตรวจวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์นครสวรรค์ พบสารประกอบของปรอท ซึ่งเป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง มูลค่าของกลางที่ยึดได้ประมาณ 170,000 บาท ในเบื้องต้นจึงได้แจ้งข้อหา ขายหรือนำเข้าเครื่องสำอางที่ไม่ได้จดแจ้ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับบริษัท เนเชอรัล กรีน เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด ตั้งอยู่ที่ 120/308 หมู่ 1 ต.บึงยี่โถ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ผลการตรวจพบเครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ และยาผิดกฎหมาย ดังนี้ พบเครื่องสำอางที่ไม่มีการจดแจ้งและแสดงฉลากไม่ถูกต้องครบถ้วน ได้แก่ บีบี ฟาวเดชั่นครีม SPF 40, วิตามินซีเซรั่ม+อัลฟ่าอาร์บูติน, Milk Berry Mineral, Aloe Vera Gel , UV Shimmer Foundation SPF 60 และแผ่นมาสก์หน้า ฉลากภาษาต่างประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบเครื่องสำอางฉลากระบุ Vit A Gel ซึ่งคือกรด วิตามิน A ที่เป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอางด้วย
พบผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้ขอแจ้งรายการละเอียดและไม่ได้ขออนุญาตนำเข้าจาก อย. ได้แก่ เครื่องขัดผิวหน้า LW-009, ICE BALL, OZONE DT 88, Golden Spoon, ULTRASONIC LW-013, ถุงมือพาราฟิน, ถุงเท้าพาราฟิน, เครื่องกรอผิว, RF MINI, เข็มขัดอินฟราเรด เป็นต้น พบยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา เช่น ยาแก้สิว , ยาแก้ฝ้า และยาแก้แพ้-แก้อักเสบ เป็นต้น จึงยึดของกลางทั้งหมดไว้ดำเนินคดี มูลค่าประมาณ 6,600,000 บาท ในเบื้องต้นจึงได้แจ้งข้อหาดำเนินคดี ดังนี้
1.ผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.แสดงฉลากเครื่องสำอางไม่ถูกต้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3. นำเข้าเครื่องมือแพทย์ไม่จดแจ้งรายการละเอียด มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 4. นำเข้าเครื่องมือแพทย์ที่ไม่มีหนังสือรับรองประกอบการนำเข้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 5.ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมมูลค่าของกลางทั้งหมดที่ยึดได้ทั้ง 5 แห่ง ประมาณ 13,000,000 บาท
นพ.พิพัฒน์ เลขาธิการ อย.กล่าวต่อไปว่า อย.จะไม่หยุดนิ่งในการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพที่จำหน่ายตามท้องตลาดอย่างใกล้ชิดต่อไป และในปีงบประมาณ 2555 จะยิ่งดำเนินการเข้มข้นเอาผิดกับผู้ผลิตและ ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมทั้งให้ศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผิดกฎหมาย (ศรร.) ดำเนินการตรวจสอบโฆษณาทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะ ทางเคเบิลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม มิให้มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์โอ้อวดเกินจริง หลอกลวงผู้บริโภค สำหรับผู้ที่ทำดีอยู่แล้ว อย.ขอยกย่องและขอให้เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่น โดยเฉพาะสถานประกอบการที่ได้รับรางวัล อย.ควอลิตี้ อวอร์ด ทุกแห่ง หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย.1556 เพื่อ อย.จะได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและตำรวจ บก.ปคบ.ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย คุ้มครองประชาชนชาวไทยให้ได้รับความปลอดภัย