xs
xsm
sm
md
lg

“เวียง กุมกาม” นครใต้พิภพ วันที่ร่องรอยประวัติศาสตร์จมน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...สุกัญญา แสงงาม

สัปดาห์ก่อน “นางสุกุมล คุณปลื้ม” รมว.วัฒนธรรม (วธ.) พร้อมด้วย นายปรีชา กันธิยะ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ วธ.นายสหวัฒน์ แน่นหนา ผู้ตรวจราชการ วธ.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโบราณสถานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมที่ “เวียงกุมกาม” นครใต้พิภพ จ.เชียงใหม่

พัชรี บุญทาวงศ์ษา มัคคุเทศก์เวียงกุมกาม เล่าประวัติเวียงกุมกามให้ฟังว่า เวียงกุมกาม แห่งนี้คือเมืองประวัติศาสตร์ที่เป็นอดีตของรุ่งอรุณแห่งนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ โดยพญามังรายสร้างบ้านแปงเมืองขึ้น เมื่อปี พ.ศ.1829 ในชัยภูมิที่มีแม่น้ำปิงไหลผ่าน ทางทิศเหนือ และทิศตะวันออก แล้วตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มบริเวณคุ้งน้ำ ทำให้เมื่อย่างเข้าหน้าฝน แม่น้ำปิงมีปริมาณสูง ส่งผลให้น้ำท่วมขังได้ง่าย

จากชัยภูมิดังกล่าว จึงไม่แปลกใจเลยที่เห็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ถูกฝังลงในผืนดินเกือบทั้งสิ้น ผ่านร่องรอยที่กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เข้าไปดำเนินการขุดค้น ขุดแต่ง และอนุรักษ์ พบโบราณสถานอยู่ถึง 42 แห่ง เป็นวัดวาอารามกว่า 27 แห่ง กระจัดกระจายทั้งในเวียงและนอกกำแพงเวียง มีพื้นที่กว้าง 600 เมตร ยาว 850 เมตร ซึ่งโบราณสถานแต่ละแห่งจะต้องขุดลงไปใต้ชั้นดิน 1-2 เมตร แต่ในฤดูฝนเยี่ยงนี้ช่างน่าเสียดายที่เราไม่มีโอกาสได้ไปยลศิลปวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด ทำได้เพียงยืนอยู่รอบๆ เวียงกุมกาม ซึ่งไกด์ บอกว่า สามารถเดินเล่น ดูร่องรอยความงดงามได้ในช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อน เท่านั้น

พัชรี ฉายภาพรวมของโบราณสถานในเขตเวียงกุมกามให้ฟังว่า เป็นโบราณสถานประเภทกำแพงเมือง คูเมือง ย่าน ตลาด วัง บ้านเรือน หนองน้ำ ถนน ฯลฯ ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ไม่คงสภาพเหลือไว้ให้ได้ศึกษา เพราะเหตุที่มีตะกอนดิน ทราย จากแม่น้ำปิงพัดพามาท่วมทับถม มีแต่เพียงสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในเขตวัดร้างแของ เวียงกุมกามที่คงหลงเหลืออยู่บ้าง

“จะสังเกตร่องรอยว่า กรมศิลปากรขุดพบวัดวาอารามอยู่มากมาย วันนี้คงเหลือเพียงร่องรอยทางประวัติศาสตร์เท่านั้น เนื่องเพราะเป็นวัดร้างอยู่ใต้ดิน อาทิ วัดกู่ป้าค้อม วัดหนานซ้าง วัดอีค่าง ฯลฯ มีเพียงเจดีย์เหลี่ยม (กู่คำ) ที่ไม่ถูกตะกอนดินทับถม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่บรรพบุรุษรังสรรค์ไว้ยังหลงเหลือไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชมความงดงามของศิลปะ” พัชรี กล่าว

พัชรี กล่าวว่า ขณะนี้สิ่งที่ชาวบ้านรู้สึกกังวล ก็คือ ทุกปีเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน จะพบปัญหาน้ำท่วมขังโบราณสถานติดต่อกันนานนับเดือน 2 เดือน อาจทำให้โบราณสถานเวียงกุมกามที่หลงเหลืออยู่เหล่านี้ อาจหักพังเสียหายไปมากกว่านี้

นางสุกุมล กล่าวว่า พื้นที่แหล่งโบราณสถานเวียงกุมกามนั้น พบว่า ได้มีน้ำท่วมขังอยู่ตลอดเวลา เพราะมีการขุดลึกลงไป 1-2 เมตร ทำให้เกิดน้ำซึมเข้ามาจากชั้นใต้ดิน ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน มีฝนตก ส่งผลให้มีน้ำท่วมขังเพิ่มมากขึ้น และจากการสังเกตพบว่า โบราณสถานแต่ละแห่งจะมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 1 ตัวและมีขนาดเล็กหรือขนาดที่ชาวบ้านใช้กัน ในขณะที่พื้นที่บริเวณโบราณสถานมีขนาดใหญ่มาก จึงไม่สามารถสูบน้ำออกได้ทัน การแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในเบื้องต้น ตนได้หารือกับเทศบาลท่าวังตาล ขอให้นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เข้ามาเวียนสูบน้ำออกเป็นจุดๆ ไป เพราะหากปล่อยให้น้ำท่วมขังจะทำให้โบราณสถานเสื่อมสภาพและเสียหายมากขึ้น ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมระยะยาว เท่าที่ทราบได้มีการศึกษาแล้วและต้องใช้งบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท

…ปัญหาน้ำท่วมโบราณสถาน ไม่ได้มีเพียงแค่ เวียงกุมกาม แต่ยังมีโบราณสถานอีกมากมายหลายแห่งทั้งอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา สุโขทัย ซึ่งขึ้นเป็นมรดกโลกยังประสบปัญหาเดียวกัน นับว่าเป็นงานท้าทายอย่างหนึ่งของกระทรวงวัฒนธรรม ว่าจะหาวิธีป้องกันน้ำท่วมที่นับวันจะหนักหนาขึ้นให้เหมาะสมกับโบราณสถานแต่ละแห่ง โดยไม่บดบังความงดงาม และคงคุณค่าโบราณสถานไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาเรียนรู้สืบไป
กำลังโหลดความคิดเห็น