มูลนิธิหญิง-สสส.เผยผลวิจัย ชี้ สังคมยังขาดความเท่าเทียม สร้างความชอบธรรม ให้สามีใช้กำลังทุบตีภรรยา เหล้ามีส่วนกระตุ้นให้เกิดคดีร้ายแรงขึ้น พบสามี 9 ใน 10 ขี้เมา ก๊งเหล้าประจำ ตัวการกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว ส่งผลให้ผู้หญิงพลั้งมือฆ่าสามี แนะภาครัฐควรเร่งทำความเข้าใจ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวฯ ให้แก่ อปท.-ชุมชนทั่วประเทศ
วันนี้ (17 ก.ย.) ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ กทม.โครงการสุขภาวะผู้หญิง โดยมูลนิธิผู้หญิง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีสรุปบทเรียนและนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการสุขภาวะผู้หญิง เพื่อเสวนาระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางการทำงานของโครงการสุขภาวะผู้หญิงในระยะที่สอง
โดยน.ส.นภามน รุ่งวิทู ในฐานะบรรณาธิการผู้รับผิดชอบเรียบเรียงข้อมูล จากผลงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ที่ทางคณะวิจัยของ หน่วยจัดการความรู้ความรุนแรงในครอบครัว รพ.รามาธิบดี มาผลิตเป็นหนังสือบทเรียนชีวิตคู่ กล่าวว่า งานวิจัยเรื่อง การดำเนินคดีหญิงต้องคดีฆ่าสามีอันสืบเนื่องจากความรุนแรงในครอบครัวนี้ ได้เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกหญิงต้องคดีฆ่าสามีเพราะเหตุความรุนแรงในครอบครัว 10 ราย และกลุ่มเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 9 หน่วยงาน อาทิ ศาล อัยการ พนักงานสอบสวน แพทย์ ทนายความ ราชทัณฑ์ ฯลฯ จำนวน 46 ราย ผลการวิจัยพบว่า 50% ของกลุ่มตัวอย่างหญิงต้องคดีฆ่าสามี เป็นวัยแรงงานอายุ 31-40 ปี ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง และมีระดับการศึกษาในระดับประถมศึกษา ทั้งนี้ สามี (ผู้ตาย) 9 ใน 10 ราย มักดื่มสุราเป็นประจำ เมื่อดื่มสุราแล้วไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ขาดสติ กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว สามีลงมือทำร้ายภรรยา ทั้งทะเลาะ ด่า ว่า ตบ ตี เตะ ต่อย เอาศีรษะโขกพื้น และมีการใช้อาวุธร่วมด้วย เช่น สามีใช้เก้าอี้ฟาด ใช้เครื่องออกกำลังกายที่ทำด้วยเหล็กตีที่ศีรษะ ใช้ค้อนทุบศีรษะ
“จากการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นหญิงต้องคดีมีวิธีแก้ปัญหาเมื่อถูกทำร้ายร่างกายด้วยการปรึกษาหรือเล่าให้เพื่อน หรือญาติพี่น้องทราบเท่านั้น โดยที่ไม่เคยขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานของภาครัฐหรือเอกชนเลย ต้องอดทนและช่วยตนอย่างโดดเดี่ยว ดังนั้น เมื่อถูกทำร้ายอย่างหนักจึงต้องป้องกันตนเองให้พ้นภัยอันตราย โดยมักใช้อาวุธที่ป้องกันต้องเป็นสิ่งที่พอหยิบฉวยได้ เช่น มีดทำอาหาร หรือมีดปอกผลไม้ และได้พลั้งมือทำให้สามีถึงแก่ความตาย” น.ส.นภามน กล่าว
น.ส.นภามน กล่าวว่า ขณะที่กลุ่มเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม มีความรู้ความเข้าใจ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว จำนวน 42 ราย และไม่ทราบ 4 ราย ขณะที่มีผู้เข้าใจความหมายของการที่หญิงถูกทำร้ายทุบตีประจำจนมีอาการทางจิตเวช (Battered Woman Syndrome) เพียง 31 ราย ไม่เข้าใจ 15 ราย จึงอาจเป็นสาเหตุให้ภรรยาที่ทำร้ายสามีจนถึงแก่ความตายถูกส่งตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจึงไม่ได้นำพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาใช้ในการพิจารณาคดี แต่นำกระบวนการกฎหมายอาญามาใช้เหมือนคดีอาญาทั่วไป ซึ่งเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะทำให้ภรรยาเหล่านี้ไม่ได้รับการคุ้มครอง หรือวินิจฉัยอาการที่ถูกต้อง
น.ส.นภามน กล่าวด้วยว่า คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้ 1.จัดอบรมความรู้ ความเข้าใจ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว แก่เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับ ชุมชน อบต. อบจ.2.ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงรายละเอียดของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เพื่อให้นำไปปฏิบัติใช้จริง 3.ควรแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ให้ครอบคลุมการกระทำผิดต่อชีวิต/ต่อเพศ 4.จัดตั้งศูนย์/องค์กรที่ดำเนินการเรื่องคดีปัญหาความรุนแรงโดยเฉพาะมีทีมสหวิชาชีพเข้าร่วม และจัดตั้งกองทุนประกันให้เป็นกองทุนอิสระที่สะดวกในการขอรับบริการ 5.จัดสถานที่เฉพาะและมีเจ้าหน้าที่ในการดูแลฟื้นฟูด้านจิตใจ และ 6.จัดระบบคัดกรองความเสี่ยงเรื่องความรุนแรงในครอบครัวแก่ผู้ป่วยที่ใช้บริการในสถานพยาบาลทุกระดับ
ด้าน น.ส.ช่อทิพย์ ชัยชาญ ผู้จัดการโครงการสุขภาวะผู้หญิง กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 เพื่อช่วยแก้ปัญหาผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว โดยเน้นการสร้างความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ สหวิชาชีพ และองค์กรพัฒนาเอกชน มาร่วมแก้ปัญหาช่วยเหลือผู้หญิงเหล่านี้ เนื่องจากพบปัญหาสำคัญ คือ ขาดความเข้าใจในบทบาทตามกฏหมาย รวมทั้งอคติทางสังคมที่มองว่าเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว ดังนั้น งานวิจัยเรื่องการดำเนินคดีหญิงฆ่าสามีอันสืบเนื่องมาจากความรุนแรงในครอบครัว จึงทำให้สังคมเข้าใจว่าการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นสิ่งที่จำเป็น