กระทรวงสาธารณสุข เผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางครั้งที่ 40 ล็อตที่ 2 ของปีนี้ ตามแผนปฏิบัติการวาระแห่งชาติ พลังแผ่นดิน เอาชนะยาเสพติด น้ำหนักรวมกว่า 821.21 กิโลกรัม จาก 133,221 คดี โดยร้อยละ 77 เป็นยาบ้า รวมมูลค่าทั้งหมด 2,455.61 ล้านบาท ส่วนยอดผู้ติดสารเสพติดในรอบ 10 เดือนปีนี้ เข้ารับการบำบัดแล้วเกือบ 1 แสนคน 1 ใน 8 เป็นเด็ก 7-17 ปี
วันนี้ (17 ก.ย.) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พรัอมด้วย นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารยา เป็นประธานในพิธีเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง ครั้งที่ 40 ตามแผนปฏิบัติการวาระแห่งชาติ “พลังแผ่นดิน เอาชนะยาเสพติด” ที่ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีทูตานุทูต ผู้บริหารจากทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยาน
การเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ มีน้ำหนักรวมทั้งสิ้น 821.21 กิโลกรัม จาก 133,221 คดี รวมมูลค่า 2,455.61 ล้านบาท ประกอบด้วย ยาเสพติด 6 ชนิด ได้แก่ 1.แอมเฟตามีน หรือยาบ้า จำนวน 633.98 กิโลกรัม หรือประมาณ 7 ล้านเม็ด มูลค่าประมาณ 2,113 ล้านบาท 2.เฮโรอีน 124.54 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 311 ล้านบาท 3.ฝิ่น 41.2กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 1 ล้านบาท 4.โคคาอีน 5.13 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 15 ล้านบาท 5.กัญชา 4.64 กิโลกรัม มูลค่า 23,183.51 บาท 6.เอ็กซ์ตาซี่ หรือยาอี และยาเลิฟ 3.01 กิโลกรัม หรือ 12,030 เม็ด มูลค่าประมาณ 12 ล้านบาท และของกลางอื่นๆ ที่ไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ เช่น คีตามีน และวัตถุออกฤทธิ์อื่นๆ โดยเผาด้วยวิธีไพโรไลติก อินซิเนอเรชัน (Pyrolytic Incineration) ซึ่งเป็นการเผาในเตาที่อุณหภูมิความร้อนสูงกว่า 850 องศาเซลเซียส ทำให้สารเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ทุกชนิด สลายตัวกลายเป็นเถ้าถ่านทั้งหมดภายในเวลารวดเร็ว ไม่สามารถนำไปใช้ได้อีก ไม่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศและสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด
นายวิทยา กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาล ได้กำหนดให้การแก้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ จัดตั้งศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ศพส.) ขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนภายใน 1 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดที่สั่งสมมานาน และกำลังแพร่ระบาดรุนแรงอยู่ในขณะนี้ให้หมดไป ได้กำชับให้สถานบำบัดทุกแห่งให้การดูแลบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสารเสพติดทุกคนอย่างครบวงจร และติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องถึงชุมชนหลังบำบัดเพื่อป้องกันหันกลับไปเสพซ้ำ
ทางด้านนพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในด้านการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 - 31 กรกฎาคม 2554 รวม 10 เดือน มีผู้เข้ารับการบำบัดทั้งหมด 93,422 คน ประกอบด้วย บำบัดโดยระบบสมัครใจ 25,598 คน ระบบบังคับบำบัด 59,389 ราย และบำบัดในระบบต้องโทษ 8,434 ราย ส่วนใหญ่เป็นชายร้อยละ 92 ที่เหลือเป็นหญิง โดยเป็นผู้เสพติดอย่างรุนแรงมากถึง 2,195 คน ยาเสพติดที่ใช้มากที่สุดคือยาบ้า ร้อยละ 83 ใช้วิธีเสพโดยการสูดดม กลุ่มอาชีพที่ใช้ยาเสพติดมากที่สุดคือรับจ้างร้อยละ 45 รองลงมา คือ ว่างงานร้อยละ 22 เกษตรกรร้อยละ 11นักเรียนร้อยละ 10 จากการวิเคราะห์กลุ่มผู้ใช้สารเสพติดที่เข้ารับการบำบัด พบว่า กลุ่มใหญ่ที่สุด คือ มีอายุ 18-24 ปี ซึ่งเป็นเยาวชน จำนวนมากถึงร้อยละ 50 รองลงมาคืออายุ 25-29 ปีร้อยละ 19 กลุ่มที่มีแนวโน้มใช้ยาเสพติดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างน่าเป็นห่วงคืออายุ 7-17 ปี พบมากถึง 11,782 คนหรือร้อยละ 13 ของผู้เข้ารับการบำบัดทั้งหมด เฉลี่ยใน 1 ใน 8 คน ซึ่งสถิติดังกล่าวเพิ่มขึ้น 12 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2549
นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดให้บริการบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดสารเสพติด ในโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง ทุกระดับรวม 931 แห่ง และยังมีหน่วยงานที่เข้าร่วมเป็นเครือข่าย บำบัดอีก 356 แห่ง ประกอบด้วย กระทรวงกลาโหม 55 แห่ง มหาดไทย 46 แห่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2 แห่งกระทรวงยุติธรรม 179 แห่ง สถานบำบัดในสังกัด กทม. 68 แห่ง และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ 6 แห่ง