xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมนัดประชุมดูเนื้อหาที่จะบรรจุในแท็บเล็ต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
“วรวัจน์” เตรียมนัดดูความพร้อมของเนื้อหาที่บรรจุในแท็บเล็ต ชี้ หากบางเนื้อหาพร้อมบรรจุจะทำให้การใช้หนังสือลดลง แต่ไม่ได้ยกเลิกหนังสือทั้งหมดแน่นอน ขณะที่ “ชินภัทร” ขอให้ มศว ทำวิจัยศึกษาความพร้อมผลที่เกิดจากการใช้แท็บเล็ต ระบุ ผลการดำเนินงานปีการศึกษา 55 จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการใช้หนังสือเรียนและสื่อเรียนอิเล็คฯในอนาคต

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนตามโครงการ OneTablet Pc per Child ของรัฐบาล ว่า โครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งตนมอบให้ นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาธิการ กกอ.) ดำเนินการร่วมกับนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ไปประชุมร่วมกันระหว่าง ศธ.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อวางกรอบการทำงานที่จะต้องผนวกเครือข่ายของไอซีที และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน ที่สำคัญต้องไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนของการใช้งบประมาณ

อย่างไรก็ตาม เร็วๆ นี้จะประชุมเกี่ยวกับเนื้อหาการเรียนการสอนที่จะจัดใส่ลงในแท็บเล็ต ว่า มีอยู่เพียงพอหรือไม่ เบื้องต้นทราบว่า สพฐ. และสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ มีเนื้อหาเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากเนื้อหาใดมีความพร้อมที่จะนำบรรจุลงแท็ปเล็ตได้การใช้หนังสือก็อาจจะลดลง ซึ่งอาจจะต้องยกเลิกบางรายการเท่านั้น แต่ขอย้ำว่าตนไม่ได้หมายความว่าจะยกเลิกทั้งหมดแน่นอนซึ่งต้องรอดูรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

ด้าน นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า การจัดทำเนื้อหาในแท็บเล็ต นั้นเป็นเรื่องสำคัญจะต้องมีความพร้อมทั้งในเรื่องของอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่เป็นเนื้อหาการเรียนการสอนเพราะคือสาระการเรียนรู้ที่จะช่วยให้ครูจัดกิจกรรมให้กับนักเรียนได้อย่างเหมาะสมและจะเอื้อกับการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละช่วงวัยและแต่ละช่วงชั้น ที่ผ่านมา สพฐ. ได้มีการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ดิจิตอลในวิชาหลัก เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ไปแล้วประมาณ2,000 หน่วยโดยได้เน้นช่วงชั้นที่ 1-3 เป็นหลัก ดังนั้น สพฐ.จะนำมาจัดระบบเพื่อให้นักเรียนและครูสามารถเข้าถึงเพื่อนำมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนได้

“ในช่วงเปลี่ยนผ่านต้องค่อยๆ ดู ว่า การเรียนผ่านสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์จะเข้ามาเสริมการเรียนรู้ในส่วนใดได้บ้างเนื่องจากสื่อการเรียนรู้ดิจิตอลยังไม่ครบ 100% อาจจะยังมีความจำเป็นที่ต้องใช้แบบเรียนที่เป็นหนังสืออยู่ระยะหนึ่ง ดังนั้น หากจะใช้ช่วงปี 2555 ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านนั้นต้องดูว่าบทบาทของการใช้หนังสือเรียนกับสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์จะเสริมกันอย่างไรได้บ้าง เพราะผลการดำเนินการจะเป็นตัวที่จะชี้ถึงทิศทางเกี่ยวกับหนังสือแบบเรียนต่างๆ ชัดเจนมากขึ้น และขณะนี้ สพฐ.ได้ขอให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมาช่วยทำการวิจัยในเรื่องความพร้อม ผลที่เกิดจากการใช้แท็บเล็ตในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 แล้ว และจะทราบด้วยว่าการลงทุนในจุดไหนถึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด” นายชินภัทร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น