กทม.จัด “โครงการตลาดนัดมูลฝอยอันตราย” เพื่อรณรงค์คัดแยกขยะอันตรายออกจากมูลฝอยทั่วไป ตั้งแต่ 15 ก.ย.-31 ธ.ค. 54 ร่วมนำขยะอันตรายมาแลกยาสามัญประจำบ้านได้ที่โรงพยาบาลสังกัด กทม.ทั้ง 8 แห่ง
พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานแถลงข่าว “โครงการตลาดนัดมูลฝอยอันตราย” โดยมี นายบรรจง สุขดี ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม และนายสราวุฒิ สนธิแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม.ร่วมแถลง ณ ห้องรัตนโกสินทร์ กทม.
กทม.กำหนดจัด “โครงการตลาดนัดมูลฝอยอันตราย” ขึ้น เพื่อรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ ผู้ใช้บริการของโรงพยาบาลสังกัด กทม.และประชาชนทั่วไป ที่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และแรงจูงใจในการคัดแยกขยะอันตรายออกจากมูลฝอยทั่วไป ส่งผลให้การจัดการขยะอันตรายเป็นไปอย่างไม่ถูกต้องและขาดความระมัดระวัง ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ได้คัดแยกขยะอันตรายได้อย่างถูกวิธี โดยการจัดกิจกรรมให้ผู้สนใจนำขยะอันตรายมาแลกยาสามัญประจำบ้าน ได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 8 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโรอุทิศ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และโรงพยาบาลสิรินธร ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูล พบว่า ในปัจจุบันปริมาณขยะอันตรายจากบ้านเรือนที่จัดเก็บได้มีเพียง 0.60 ตันต่อวัน จากปริมาณที่คาดการณ์เฉลี่ยทั้งหมดต่อวัน 24 ตัน โดยขยะประเภทมูลฝอยอันตราย แบ่งเป็นกลุ่มแบตเตอรี่ (รีไซเคิลไม่ได้) ได้แก่ แบตเตอรี่รถยนต์ ถ่านไฟฉายก้อนใหญ่ ถ่านก้อนเล็ก 2A,3A กลุ่ม หลอดไฟ ได้แก่ หลอดฟลูออเรสเซนต์สั้น/ยาว หลอดตะเกียบ หลอดไส้ กลุ่มอุปกรณ์สำนักงาน ได้แก่ ไส้ปากกา กระดาษคาร์บอน หมึกปรินเตอร์ แท่นหมึก/ขวดหมึก กลุ่มบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ ขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ กระป๋องสเปรย์ ยาฆ่าแมลง ขวดยาทาเล็บ หลอดยาย้อมผม เครื่องสำอางค์หมดอายุ ขวดยาหมดอายุ ขวดน้ำมันเครื่อง ขวดทินเนอร์/กระป๋องสี กลุ่มแบตเตอรี่ (รีไซเคิลได้) ได้แก่ แบตเตอรี่โน้ตบุ๊ก แบตเตอรี่กล้องถ่ายรูป (ชนิด recharge) และแบตเตอรี่มือถือ (ชนิด recharge)
ทั้งนี้ ขอเชิญชวนเจ้าหน้าที่ ผู้ใช้บริการของโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร และประชาชนทั่วไปนำขยะอันตรายมาแลกยาสามัญประจำบ้าน ได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ทั้ง 8 แห่ง ระหว่างวันที่ 15 ก.ย.-31 ธ.ค.2554