กรมศิลป์ ระบุ คนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าศิลปวัตถุเลียนแบบของจริง ต้องขออนุญาตก่อนนำออกนอกประเทศ เผยสถิติช่วง 10 ปี ขออนุญาต 1,139 รายการ “พระพุทธรูป ประติมากรรมจำลอง เครื่องถ้วย” ยอดฮิต พร้อมเร่งทำทะเบียนโบราณวัตถุลงระบบอิเล็กทรอนิกส์ ป้องกันการสูญหาย
นายอนันต์ ชูโชติ ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร เปิดเผยว่า ตนพาคณะสื่อมวลชนมาดูเบื้องหลังการทำงานของพิพิธภัณฑ์ว่าภารกิจอะไรบ้าง ซึ่งภารกิจหนึ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้ คือ การออกใบอนุญาตศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ ออกจากราชอาณาจักรไทย และการตรวจสอบโบราณวัตถุ เป็นหน้าที่หลักที่สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จะต้องดำเนินการ
สำหรับสถิติการขออนุญาตนำศิลปวัตถุ ที่ทำเลียนแบบของโบราณ เพื่อนำออกนอกราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่เดือนตุลาคม 25543- สิงหาคม 2554 มีการขอนำศิลปวัตถุออกนอกราชอาณาจักรแล้ว 1,139 รายการ โดยศิลปวัตถุที่นิยมนำออกไป 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.พระพุทธรูปปางต่างๆ 2.ประติมากรรมโบราณจำลอง 3.เครื่องถ้วยต่างๆ ส่วนสถิติการส่งโบราณวัตถุมาให้กรมศิลปากรตรวจสอบในช่วงปี53-54 มีจำนวน 7,105 รายการ โดยจะมีกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ ทำหน้าที่ตรวจสอบและรักษาสภาพของโบราณวัตถุนั้นๆ
นายอนันต์ กล่าวถึงปัญหาการนำศิลปวัตถุออกนอกราชอาณาจักรไม่ได้ว่า เพราะคนส่วนใหญ่ ไม่รู้ว่า ศิลปวัตถุเหล่านี้จะต้องขออนุญาตจากกรมศิลปากร ถ้าไม่ขออนุญาต ทางด่านศุลกากรจะไม่ให้ผ่าน เพราะไม่รู้ว่าศิลปวัตถุชิ้นนั้น เป็นของเก่าจริงหรือจำลองขึ้นมาใหม่
จากนั้น นายอนันต์ กล่าวว่า ปัจจุบันสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมีโบราณวัตถุอยู่ในการดูแลกว่า 2 แสนชิ้น โดยดำเนินการจัดทำทะเบียนโบราณวัตถุในระบบอิเล็กทรอนิกส์ไปแล้วมากกว่า 1 แสนชิ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการสืบค้น แถมยังเป็นหลักฐานป้องกันการสูญหายของโบราณวัตถุอีกด้วย