กทม.ลงนาม MOU ร่วมกับ สธ.และ จับมือเครือข่าย บังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มงวด พร้อมรณรงค์ ส่งเสริมให้สถานที่ราชการและสวนสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นเขตปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จริงจัง
วันนี้ (31 ส.ค.) นพ.พีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดสถานที่ราชการ และสวนสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานครปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการ กทม.เพื่อรณรงค์ ส่งเสริมให้สถานที่ราชการและสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม รวมถึงช่วยลดปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ อุบัติเหตุ อาชญากรรม เศรษฐกิจ
ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้สถานที่ราชการและสวนสาธารณะที่อยู่ในกำกับ ดูแลของราชการห้ามขาย ห้ามดื่ม และห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด อนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในร้านค้า หรือสโมสรที่เปิดบริการเป็นประจำหรือถาวรที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ห้ามขายให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และขายได้เฉพาะเวลาที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ได้แก่ เวลา 11.00-14.00 น.และ 17.00-24.00 น.หากพบผู้กระทำผิดด้วยการโฆษณาหรือส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 50,000 บาท ถ้าขายหรือบริโภคในสถานที่หรือบริเวณต้องห้าม มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีขายนอกเวลาที่กำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
รองปลัด กทม.กล่าวว่า กทม.ได้จัดทำแผนบูรณาการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2553-2555 เพื่อใช้บังคับกำกับดูแลสถานที่ราชการและสวนสาธารณะให้ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 อย่างเข้มงวด ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และประชาชนทราบข้อกฎหมายอย่างถูกต้อง อีกทั้งจัดเจ้าหน้าที่ตรวจ ดูแล และควบคุมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาได้ใช้ควบคุมในการจัดงานตามประเพณี และวัฒนธรรมต่างๆ อย่างเข้มงวด เพื่อช่วยส่งเสริมสุขภาพ คุณภาพชีวิต และความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมการดื่มสุราของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2550 พบว่า ผู้ที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ทั้งหมด 51.2 ล้านคน ดื่มสุรา 14.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 29 ซึ่งผู้ชายดื่มมากกว่าผู้หญิงประมาณ 6 เท่า นอกจากนี้ กลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 24 ปี มีอัตราการดื่มร้อยละ 22 โดยเริ่มดื่มเมื่ออายุเฉลี่ย 17 ปี และกลุ่มวัยทำงานมีอัตราการดื่มสูงสุดร้อยละ 34 โดยเริ่มดื่มเมื่ออายุเฉลี่ย 20 ปี
หากประชาชนพบเบาะแสการกระทำผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 แจ้งได้ที่ สายด่วน กทม.โทร.1555 และสายด่วนรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเหล้าของกระทรวงสาธารณสุข โทร.0 2590 1332 ตลอด 24 ชั่วโมง