สำนักระบาด! เผยไม่มียารักษาเฉพาะ ชี้ในผู้ป่วยอาการรุนแรงใช้เวลาแค่ 4-5 วัน เชื้อลามถึงขั้นเสียชีวิต พบมีผู้ป่วยกว่า 8 พันคนทั่วปท.กำชับเฝ้าระวังพื้นที่ระบาด ต้องทำความสะอาดร่างกาย-สถานที่ที่เด็กอยู่ร่วมกัน
วันนี้ (26 ส.ค.) นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวเกี่ยวกับกรณีการ ระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ว่า ขณะนี้ทาง สธ.มีการกำชับให้พื้นที่ ซึ่งระบาดมากในรอบ 1 สัปดาห์ก่อน ได้แก่ จ.ชัยภูมิ นครราชสีมา และ ลพบุรี ให้มีการเฝ้าระวังอย่างดี ซึ่งทางพื้นที่ก็รับทราบ และเร่งดำเนินการจนสามารถทำให้ผู้ป่วยลดลงแล้ว อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้ว 4 ราย ยืนยันได้ว่า เป็นการติดเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 หรือ EV71 ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการทำให้สถานการณ์ของโรคระบาดรุนแรงขึ้น แต่ในรายที่ยังป่วยหนัก 1 รายที่เป็นชาว จ.ชัยภูมิ นั้น อยู่ระหว่างการตรวจหาชนิดของไวรัส ว่า ป่วยด้วยเชื้อคอกซากี้ หรือ เอนเทอโร โดยทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ต้องเร่งดำเนินการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ละเอียด ขณะที่ผู้ป่วยทั่วประเทศที่มีทั้งหมด 8,405 รายนั้น จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อเช่นกันว่า ใครป่วยด้วยเชื้อชนิดใด โดยคาดว่า ใช้เวลาราว 1 เดือน อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยนั้น ส่วนมากเด็กที่ป่วยด้วยโรค มือ เท้า ปาก เปื่อย มักจะติดเชื้อไวรัสชนิดคอกซากี้ ซึ่งพบการระบาดแบบคงตัว เหมือนๆ กับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ประเทศไทยพบผู้ป่วยน้อยกว่า
“โดยส่วนมากผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก จะหายได้เอง เพราะในทางการรักษานั้น ไม่มียารักษาเฉพาะถ้าอาการหนักก็ต้องส่งต่อ เพื่อให้กุมารแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยและรักษาด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย และพิจารณาการให้เป็นรายๆ” นพ.ภาสกร กล่าว
นพ.ภาสกร กล่าวด้วยว่า ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากๆ เชื้อจะก่อตัวราว 4-5 วันก่อนเสียชีวิต ซึ่งที่ผ่านมา พบผู้เสียชีวิตน้อยมาก อย่างไรก็ตาม เรื่องการป้องกันตนเองยังจำเป็นต้องเน้นที่การดูแลรักษาความสะอาดของร่างกายและสถานที่ๆ เด็กอยู่รวมกัน