xs
xsm
sm
md
lg

อันตราย! ขวดนม 80% มีสารเคมีอันตราย กระทบระบบสืบพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


น่าห่วง! โครงการอาหารปลอดภัยเด็กไทยพ้นสารพิษพลาสติก เผยข้อมูล “ขวดนม” ร้อยละ 80 มีสารเคมีอันตราย BPA มีผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ อย.แจง ไม่มีอำนาจควบคุม ส่งเรื่องจี้ สมอ.ออกเกณฑ์ควบคุมการผลิต

พญ.รัชดา เกษมทรัพย์ กุมารแพทย์ หน่วยกุมารเวชศาสตร์สังคม สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) ในฐานะเลขานุการโครงการอาหารปลอดภัยเด็กไทยพ้นสารพิษพลาสติก กล่าวว่า ขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตั้งคณะกรรมการควบคุมการผลิตขวดนมพลาสติกสำหรับทารก และเด็กเล็กขึ้น เพื่อที่จะพิจารณาว่าควรออกแนวทางให้ผู้ประกอบการงดผลิตขวดนมจากพลาสติกโพลีคาร์บอนเนต เนื่องจากพลาสติกชนิดดังกล่าวมีสารเคมี BPA ที่มีผลวิจัยจากทางยุโรปเมื่อประมาณปี 2551 โดยวิจัยในสัตว์ทดลองให้กินนมจากขวดนมที่ทำจากพลาสติกโพลีคาร์บอนเนตอย่างต่อเนื่อง พบว่า สารเคมีดังกล่าวได้ปนเปื้อนมาในน้ำนม และมีผลในการไปรบกวนการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง รวมถึงไปมีผลต่อการผลิตอสุจิได้น้อยลง ส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธ์ของสัตว์ทดลอง ทำให้ในหลายประเทศ เช่น แคนาดา สหภาพยุโรป จีน มาเลเซีย และแอฟริกาใต้ ออกประกาศห้ามผลิต และจำหน่ายขวดนมที่ผลิตจากโพลีคาร์บอนเนต ไปแล้ว เพราะเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบประสาทและพฤติกรรมของทารกและเด็กเล็ก รวมไปถึงการพัฒนาระบบสืบพันธุ์ด้วย  

พญ.รัชดา กล่าวต่อไปว่า สำหรับในประเทศไทย พบว่า มีการจำหน่ายขวดนมที่ผลิตจากโพลีคาร์บอนเนตในท้องตลาดมากกว่าร้อยละ 80 ซึ่งทางกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ได้สุ่มนำขวดนมที่วางจำหน่ายในประเทศไทยทั้งหมดประมาณ 30 ขวด มาทดสอบหาสารเคมี BPA ก็พบว่า มีสารเคมี BPA ปนเปื้อนในน้ำนมเช่นกัน และยังพบด้วยว่าหากอุณหภูมิของน้ำยิ่งสูงเท่าใด ก็จะส่งผลให้มีสารเคมีดังกล่าวปนเปื้อนออกมาในจำนวนมาก อย่างไรก็ตามยังไม่มีการวิจัยในตัวเด็กทารก เนื่องจากประเทศไทยยังขาดห้องแลปที่สามารถทดลองในเรื่องนี้ได้ แต่ในประเทศเกาหลี และไต้หวัน ได้เคยทดลองวิจัยปัสสาวะของเด็กทารกที่ดื่มนมจากขวดนมที่ทำจากพลาสติกโพลีคาร์บอนเนต ก็พบว่า มีสารเคมี BPA ปนเกื้อนออกมาเช่นกัน  ดังนั้นจึงอยากให้พ่อ แม่ เลือกซื้อขวดนมที่ผลิตจากพลาสติก โพลีพรอพพีลีน หรือ PP หรือให้สังเกตบริเวณข้างขวดจะมีเขียนไว้ว่า BPA Free หรือ PP หรือสังเกตได้จากก้นขวดนมจะมีสัญลักษณ์ มีเลข 5 ตรงกลาง และมีรูปลูกศรล้อมรอบ แต่หากเป็นขวดนมที่ผลติจากพลาสติกโพลีคาร์บอนเนต บริเวณก้อนขวดจะมีสัญลักษณ์เลข 7 อยู่ตรงกลางและมีลูกศรล้อมรอบ   

ด้านนพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หลังจากคณะกรรมการได้มีการพิจารณาแล้ว พบว่า ในการควบคุมการผลิตขวดนม อย.ไม่ได้มีอำนาจควบคุมการผลิตโดยตรง ดังนั้น จึงได้นำผลวิจัยที่เกี่ยวกับสาร BPA เสนอไปยัง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ.ซึ่งเป็นผู้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม โดยจะออกตราสัญลักษณ์ มอก.ให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรอง ดังนั้น หน้าที่ในการตรวจรับรอง หรือควบคุมมาตรฐาน รวมทั้งการกำหนดเกี่ยวกับสารเคมี BPA จึงเป็นหน้าที่ของ สมอ.ในการพิจารณาเรื่องนี้  อย.ทำได้เพียงเสนอข้อมูลทางวิชาการเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น