xs
xsm
sm
md
lg

“โต๊ะเรียนเพื่อเด็กพิการ” นวัตกรรมเสริมการศึกษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้พิการทางกายหรือผู้บกพร่องในความสามารถด้านการเคลื่อนไหว เป็นกลุ่มคนพิการที่มีจำนวนมากในสังคม ซึ่งมีอยู่หลายประเภท โดยสามารถแบ่งตามช่วงเวลาที่เกิดความพิการได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ ความพิการที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด เช่น มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของยีน-โครโมโซม และความพิการที่เกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุ หรือเป็นโรคบางชนิด
รองรับนักเรียนที่ใช้ปากเขียนหนังสือ
คนพิการทางกาย หรือการเคลื่อนไหวนั้น ส่วนใหญ่จึงมีปัญหาการเข้าถึงสถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้มีความยากลำบากหรือไม่สามารถใช้แขนและมือในการทำกิจกรรมต่างๆได้ ดังนั้น การช่วยเหลือคนพิการกลุ่มนี้ ควรเน้นในเรื่องการปรับสภาพทางสถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการจัดหาหรือปรับเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสม โดยเฉพาะในด้านการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้ที่คนเหล่านี้ควรได้รับ

ในการนำเสนอผลวิจัยแห่งชาติ ปี 2554 ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมด้วยเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ร่วมกันเปิดเวทีการวิจัยระดับชาติขึ้น เพื่อนำผลผลิตจากงานวิจัยมาขยายสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ เพื่อให้งานดังกล่าวเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยหนึ่งในผลงานเหล่านั้น คือ “การออกแบบและพัฒนารูปแบบโต๊ะเรียนสำหรับเด็กพิการด้านร่างกายและการเคลี่ยนไหวในระดับชั้นอนุบาล” ของอาจารย์เกษม มานะรุ่งวิทย์ จาก ม.เทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ซึ่งอยู่ในกลุ่มของงานวิจัยเพื่อผู้พิการและสูงอายุ

อ.เกษม กล่าวว่า เริ่มจากการที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงเรียนศรีสังวาลย์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเฉพาะทางสำหรับเด็กพิเศษ และเห็นว่ามีเด็กจำนวนมากที่มีความพิการทางกายหรือการเคลื่อนไหว จึงได้มีการออกแบบโต๊ะสำหรับเด็กเหล่านี้ได้ทดลองใช้จำนวน 5 ตัว

“โดยส่วนตัวแล้วมีความรู้ทางด้านออกแบบผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว และยังเคยทำงานที่เกี่ยวข้องกับเฟอร์นิเจอร์เด็กมาก่อน จึงทำให้คิดว่าน่าจะใช้ความรู้และประสบการณ์มาช่วยเด็กพิเศษเหล่านี้”

อาจารย์ผู้มากความสามารถรายนี้อธิบายถึงการออกแบบ “ส่วนที่เป็นพื้นโต๊ะสามารถปรับระดับเอียงสูง-ต่ำได้ สำหรับเด็กที่ใช้ปากในการเขียน ส่วนด้านข้างของโต๊ะที่เป็นขาโต๊ะสามารถถอดออกได้ทั้ง 2 ข้าง แล้วนำส่วนของพื้นโต๊ะที่ปรับระดับได้ออกมาวางกับพื้น สำหรับเด็กที่ใช้เท้าในการเขียน ส่วนเด็กที่ใช้มือเขียนก็สามารถใช้โต๊ะได้อย่างปกติ โดยที่ขนาดของโต๊ะทุกตัวถูกออกแบบเพื่อรองรับผู้ที่ใช้วีลแชร์ โต๊ะที่ออกแบบ มีให้เลือก 2 ลักษณะ ซึ่งรูปแบบการใช้งานเหมือนกัน แต่งต่างเพียงวัตถุดิบและรูปลักษณ์ภายนอก คือ แบบที่เป็นไม้ทั้งตัว ซึ่งง่ายต่อกระบวนการผลิตและเหมาะสำหรับคนชอบไม้ และแบบที่ขาเป็นสเตนเลสที่หลายคนชอบเพราะความโปร่งและดูโล่งสบาย”

อ.เกษม เล่าถึงการสำรวจ และสัมภาษณ์ถึงความพอใจว่า ผู้ปกครองและครูหลายคนพอใจมาก เพราะก่อนหน้านี้เด็กๆ ต้องใช้โต๊ะที่ครูและพ่อแม่ของเด็กแต่ละคนช่วยกันทำขึ้นมาเอง ไม่ได้มีโต๊ะที่เป็นมาตรฐานที่เหมาะสมกับเด็กพิเศษเหล่านี้

โต๊ะเรียนที่ทำขึ้นนี้ได้ผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) แล้ว โดยในอนาคตอ.เกษมมีแนวความคิดที่จะนำไปจดอนุสิทธิบัตร เพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์ และหวังว่าจะขยายไปสู่เด็กพิเศษที่อื่นๆ ในวงกว้าง ซึ่งอย่างน้อยเด็กๆ เหล่านี้จะได้มีโต๊ะที่ทำให้ง่ายต่อการเรียนรู้ จนทำให้ง่ายต่อการมีชีวิตอยู่ในอนาคตข้างหน้าต่อ
สำหรับเด็กที่ใช้เท้าในการเขียน
น้องๆกำลังดูแบบโต๊ะเรียน
อาจารย์เกษม มานะรุ่งวิทย์
กำลังโหลดความคิดเห็น