xs
xsm
sm
md
lg

เด็กไทยเจ๋ง! คว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยสมัยที่ 6 ที่ตุรกี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทีมหุ่นยนต์กู้ภัยไทย iRAP_Judy จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สร้างชื่อก้องโลก คว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยเป็นสมัยที่ 6 ในการแข่งขัน World RoboCup Rescue 2011 ที่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี ขณะที่ทีม Stabilize และทีม SUCCESS ครองอันดับสามและสี่ ตามลำดับ พร้อมเดินทางกลับถึงเมืองไทย 12 ก.ค.นี้ เวลา 13.15 น.

เมื่อวันที่ 10 ก .ค.ที่อาคารอิสตันบูลเอ็กซ์โปเซ็นเตอร์ ประเทศตุรกี นางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เอสซีจี ในฐานะผู้สนับสนุนการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย ร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทีมเยาวชนไทย iRAP_Judy จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สามารถคว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยได้อย่างสมศักดิ์ศรี นับเป็นการรักษาแชมป์โลกให้ประเทศไทยได้สำเร็จเป็นสมัยที่ 6 ในเวทีหุ่นยนต์กู้ภัยระดับโลก ทำคะแนนนำทิ้งห่างทีมอื่นๆ ตลอดทุกรอบการแข่งขัน โดยในการแข่งขันรอบรองชนะเลิศและชิงชนะเลิศรวม 3 สนาม ทีม iRAP_ Judy สามารถค้นหาผู้ประสบภัยได้รวม 25 ราย มีคะแนนรวมสูงสุด 835 คะแนน ส่วนอันดับสอง เป็นทีม MRL จากอิหร่าน มีคะแนนรวม 430 คะแนน อันดับสาม ทีม Stabilize จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มีคะแนนรวม 410 คะแนน อันดับสี่ ทีม SUCCESS จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มีคะแนนรวม 395 คะแนน และทีม YRA จากอิหร่าน ได้อันดับที่ห้า เอสซีจี รู้สึกยินดีและชื่นชมในความสามารถของเด็กไทยอย่างยิ่ง ความสำเร็จในครั้งนี้ทำให้ต่างชาติทึ่งและยอมรับในศักยภาพและความสามารถของเยาวชนไทยมากขึ้น โดยทีม iRAP_Judy จะเข้ารับรางวัลในเวลา 17.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น

ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์โลก ปี 2011 ทีมจากประเทศไทยทั้ง 3 ทีมทำผลงานได้เป็นอย่างดี โดยทีม iRAP_Judy จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ทีม SUCCESS จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ทีม Stabilize จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ทีม MRL และทีม YRA จากอิหร่าน ทีม SEU-REDSON จากจีน ทีม CASualty จากออสเตรเลีย และทีม UP จากเม็กซิโก ซึ่งแต่ละทีมจะต้องลงแข่งขันเก็บคะแนนทีมละ 2 สนาม เพื่อคัดเลือก 5 ทีมที่มีคะแนนสูงสุดผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ โดยทีม iRAP_Judy ซึ่งทำคะแนนนำมาตลอด ยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ทำคะแนนสูงสุดลอยลำเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ พร้อมด้วยทีม SUCCESS และทีม Stabilize จากประเทศไทย ส่วนอีก 2 ทีมเป็นทีมจากประเทศอิหร่าน คือ ทีม MRL และทีม YRA โดยในรอบชิงชนะเลิศ ทีม iRAP_Judy ยังคงสร้างผลงานโดดเด่นโดนใจผู้ชมทั้งสนาม ทำคะแนนนำสูงสุดและคว้าแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยโลกสมัยที่ 6 ได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งการเป็นแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยโลกเป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่การรักษาแชมป์โลกสมัยที่ 6 เป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่า เพราะคู่แข่งจากประเทศอื่นๆ มีความสามารถและความพร้อมสูง ทั้งยังเป็นประเทศผู้นำเทคโนโลยี และทีมเหล่านี้ได้ให้ความสนใจบันทึกภาพและข้อมูลทีมไทยเพื่อนำไปศึกษาด้วย ทางสมาคมรู้สึกภูมิใจในความสามารถเด็กไทยอย่างมาก และจะต่อยอดการพัฒนาหุ่นยนต์ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับการใช้งานด้านต่างๆ ในอนาคตต่อไป

นายวาทิต ภูสุวรรณ หรือน้องแน่น หัวหน้าทีม iRAP_Judy นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวถึงความภาคภูมิใจภายหลังได้รับชัยชนะ ว่า พวกเราทุ่มเทและเตรียมความพร้อมก่อนแข่งขันมากกว่า 6 เดือน โดยทีมงานได้แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกันเป็นอย่างดี ทำให้สามารถทำงานภายในเวลาอันสั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ การแข่งขันครั้งนี้ไม่ได้มุ่งหวังชัยชนะเพียงอย่างเดียว สิ่งสำคัญคือ ประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในห้องเรียน และความรู้เพิ่มเติมที่ได้จากการแลกเปลี่ยนกับทีมต่างชาติ หลังจากนี้ ก็จะมีรุ่นน้องมาสานต่อองค์ความรู้และพัฒนาสมรรถนะหุ่นยนต์ให้ดีและมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ด้านนายกัญจนัศ แสนบุญศิริ หรือ น้องแตม ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบบังคับหุ่นยนต์และงานเครื่องกล ทีม iRAP_Judy นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวถึงความสำเร็จในครั้งนี้ว่า รู้สึกดีใจมากที่สามารถรักษาแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยสมัยที่ 6 ให้กับประเทศไทยได้สำเร็จ จากผลงานในสามวันที่ผ่านมา ทีมเรามีคะแนนนำทิ้งห่างจากทีมอันดับที่สอง และทีมอื่นๆ ค่อนข้างมากในทุกรอบ ทำให้ไม่เกิดความกดดันในการบังคับหุ่นยนต์เท่าใดนัก แต่ทีมเราก็ไม่ประมาท เราทุกคนในทีมมีความมุ่งมั่นตั้งใจ และพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อรักษาตำแหน่งแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยสมัยที่ 6 ให้กับประเทศไทย พอเราทำได้สำเร็จก็รู้สึกดีใจและภูมิใจมาก

สำหรับ World RoboCup เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 แบ่งการแข่งขันออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ฟุตบอลหุ่นยนต์ (RoboCup Soccer) หุ่นยนต์กู้ภัย (RoboCup Rescue) หุ่นยนต์ทำงานบ้าน (RoboCup@Home) และหุ่นยนต์ระดับเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี (RoboCup Junior) โดยปีนี้ การแข่งขัน World RoboCup 2011 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-10 กรกฎาคม 2554 ที่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี มีผู้สมัครเข้าแข่งขันรวมทุกประเภทกว่า 3,000 คน จาก 43 ประเทศทั่วโลก และมีผู้เข้าแข่งขันในประเภทหุ่นยนต์กู้ภัย 17 ทีม จาก 13 ประเทศ ทั่วโลก ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี ออสเตรเลีย อิหร่าน จีน เม็กซิโก กรีซ อินเดีย ปากีสถาน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ตุรกี และ ไทย โดยเอสซีจีสนับสนุน ทีม iRAP_Judy มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (แชมป์ประเทศไทย Thailand Rescue Robot Championship ปี 2553) เข้าร่วมการแข่งขัน นอกจากนี้ ยังมีทีมเยาวชนไทยอีก 2 ทีมที่ส่งหุ่นยนต์เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ ได้แก่ ทีม SUCCESS จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ และ ทีม Stabilize จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
กำลังโหลดความคิดเห็น