รองเลขาธิการ สปสช.ย้ำ ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่แสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นเพียงการยืดการตายในภาวะสุดท้ายของชีวิต ถ้าเป็นผู้ป่วยในระบบบัตรทองและได้รับความเสียหายจากการใช้บริการสาธารณสุขก็ยังคงได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตาม ม.41 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ได้ ไม่ถูกตัดสิทธิเพราะเป็นคนละเรื่องกัน
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช.ชี้แจงว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ว่าด้วยสิทธิการตายในระยะสุดท้ายของการรักษาพยาบาลและมีข่าวทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ผู้ป่วยที่มีหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นเพียงการยืดการตายในภาวะสุดท้ายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวจะไม่ได้รับสิทธิรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นช่วยเหลือตามมาตรา 41 ของ สปสช.นั้นไม่เป็นความจริง เพราะหนังสือแสดงเจตนาไม่รับการรักษาเป็นคนละเรื่องกันและไม่มีผลทำให้สิทธิตามมาตรา 41 ถูกตัดทอนหรือไม่ได้รับเงินช่วยเหลือแต่อย่างไร เพราะมาตรา 41 ของในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นั้น ต้องการช่วยเหลือผู้ป่วยในระบบบัตรทองทุกคน ที่ได้รับความเสียหายจากการใช้บริการโดยไม่ต้องพิสูจน์ ใครถูก ใครผิด ต้องการเยียวยาช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน ทำให้ผู้ป่วย ญาติและเจ้าหน้าที่ ผู้ให้บริการมีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การลดการฟ้องร้องกันทางศาล เป็นผลดีทั้งกับผู้ป่วยและหมอพยาบาลผู้ให้การรักษา
“เรื่องการใช้สิทธิการตายในภาวะสุดท้ายของชีวิต เป็นเรื่องสิทธิของผู้ป่วยตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติตามมาตรา 12 ไม่เกี่ยวกับมาตรา 41 พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแหงชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งเป็นกฎหมายคนละฉบับกัน” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวย้ำ