อย.ร่วมเจ้าหน้าที่ตำรวจ จับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ยา และเครื่องมือแพทย์ผิดกฎหมาย มูลค่ากว่า 60 ล้าน เบื้องต้น ตำรวจตั้งข้อหากับผู้ดำเนินการกว่า 7 กระทง เจอโทษหนักทั้งจำทั้งปรับ
วันนี้ (27 มิ.ย.) นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมกับ พล.ต.ต.พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ผบก.ปคบ.) ร่วมกันแถลงข่าวการบุกจับผลิตภัณฑ์สุขภาพและเครื่องมือแพทย์ ผิดกฎหมายมูลค่ากว่า 60 ล้านบาท ซึ่งที่ได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา
โดย นพ.พิพัฒน์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่มีผู้บริโภคร้องเรียน อย.ว่า มีสถานที่เก็บผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อประชาชน อย.จึงได้ประสานไปยังตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) นำหมายค้นของศาลแขวงพระนครเหนือเข้าตรวจสอบแหล่งที่คาดว่ามีการดำเนินการที่ผิดกฎหมายจำนวน 3 แห่ง คือ ตรวจสถานที่เก็บสินค้าไม่มีชื่อ เลขที่ 2991/22 ซ.ลาดพร้าว 101/3 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม. ผลการตรวจสอบ พบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ไม่มีฉลากและที่มีฉลากแต่การแสดงฉลากไม่ถูกต้องและครบถ้วน เช่น ผลิตภัณฑ์กันแดด ครีมปรับสภาพผิว เจลแต้มสิว รวมทั้งยังพบผลิตภัณฑ์ทา ทำให้ผิวขาวอีกหนึ่งชนิดที่ทดสอบเบื้องต้นแล้วพบสารห้ามใช้ไฮโดรควิโนน นอกจากนี้ ยังได้ตรวจค้นโกดังเก็บสินค้า ตั้งอยู่เลขที่ 799 หมู่บ้านสินธร แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ ผลการตรวจสอบ พบเครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอาง ยา ที่ผิดกฎหมายจำนวนมาก ทั้งเครื่องมือแพทย์ผลการตรวจสอบพบ เครื่องมือแพทย์ อาทิ เครื่อง The LIFE บรรจุในลังไม้, เครื่อง Radio Frequency Machine ,เครื่อง Carbon dioxide Laser โดยพบว่า สถานที่ดังกล่าวข้างต้นไม่ได้มาขอจดทะเบียนสถานประกอบการผลิตหรือนำเข้าเครื่องมือแพทย์ รวมทั้งเครื่องมือแพทย์ทั้ง 10 รายการ ไม่ได้ขอแจ้งรายการละเอียดเครื่องมือแพทย์ หรือขอหนังสือรับรองประกอบการนำเข้า บางอย่างมีการแสดงเอกสารอันเป็นเท็จ คือ พบเป็นเครื่องสำอางที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง เช่น ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวแพ้ง่าย ผลิตภัณฑ์ทาสิว แผลเป็นผลิตภัณฑ์ผิวขาว โลชั่นใส่ผม ผลิตภัณฑ์ฟื้นฟูผิวใหม่ เป็นต้น
“ได้ตรวจอาคารสำนักงาน เลขที่ 61 ซอยลาดพร้าว 115 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ โดยขณะตรวจสอบพบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและยา ซึ่งมีไว้เพื่อจ่ายแจกให้กับสำนักงานสาขาต่างๆ สำหรับเครื่องสำอางที่ตรวจพบลักษณะเป็นกระปุก ไม่มีฉลาก ส่วนยา ลักษณะเป็นครีม บรรจุในกระปุก ไม่มีฉลาก ระบุเพียงตัวย่อเป็นรหัสสินค้าหรือรหัสตัวยา เช่น รหัส Keto ซึ่งชื่อย่อมาจาก คีโตโคนาโซล เป็นยารักษาเชื้อราที่ผิวหนัง เช่น ครีมสีขาว ครีมสีเหลืองอ่อน ครีมสีชมพู และครีมฟอกสีผิว” นพ.พิพัฒน์ กล่าว
รองเลขาธิการ อย.กล่าวว่า รวมของกลางจากทั้ง 3 แห่ง แยกเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ 10 รายการ จำนวน 310 เครื่อง , ยา 2 รายการ จำนวน 20,000 ชิ้น และเครื่องสำอาง 29 รายการ จำนวนกว่า 1 แสนหลอด รวมมูลค่าของกลางผิดกฎหมายทั้งหมดที่ยึดได้จาก 3 แห่ง รวมกว่า 60 ล้านบาท ซึ่งการตรวจสอบสถานที่ทั้ง 3 แห่ง มี นายชนะศักดิ์ ศรีสอาด กรรมการบริษัท นิติพลการแพทย์ จำกัด เป็นผู้นำการตรวจค้นและยอมรับเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์
ด้าน พล.ต.ต.พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผบก.ปคบ.กล่าวว่า ในเบื้องต้นได้แจ้งข้อหาดำเนินคดี 7 ข้อหา คือ 1.นำเข้าเครื่องมือแพทย์โดยไม่จดทะเบียนสถานประกอบการ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.นำเข้าเครื่องมือแพทย์โดยไม่แจ้งรายการละเอียด มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.นำเข้าเครื่องมือแพทย์ที่ไม่มีหนังสือรับรองประกอบการนำเข้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 4.ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท 5.ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 6.ขายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 7.ขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะที่ ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการ อย.กล่าวว่า ขอเตือนไปยังคลินิกและสถานบริการเสริมความงามทุกแห่ง ว่า การนำเครื่องมือแพทย์ หรือวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้บริการในคลินิกและสถานเสริมความงาม จะต้องมาขออนุญาตขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง โดยจะต้องมายื่นขอหนังสือรับรองประกอบการนำเข้าจาก อย.ตามเกณฑ์ระบบที่ อย.กำหนด นอกจากนี้ เมื่อจะจัดหาจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ใดมาใช้บริการเสริมความงาม ขอให้ตรวจสอบว่ามีการขออนุญาตนำเข้าถูกต้องตามกฎหมาย มิฉะนั้น ถือว่าเข้าข่ายครอบครองเครื่องมือแพทย์ ที่ไม่ถูกต้อง จะมีโทษทั้งจำและปรับ และการนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมาจำหน่ายหรือให้บริการลูกค้าจะต้องผ่านการจดแจ้ง มีการแสดงฉลากภาษาไทยที่ถูกต้องและครบถ้วน รวมทั้งอย่านำสารห้ามใช้มาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางเด็ดขาด ถือว่าผิดกฎหมาย หากเป็นยาหรือครีมรักษาโรค จะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนตำรับยา หรือหากจะเป็นยาที่ได้รับการยกเว้นการขึ้นทะเบียน เช่น เป็นยาที่ปรุง หรือผลิตเฉพาะการรักษาผู้ป่วยบางราย ซึ่งจะได้รับการยกเว้นการขึ้นทะเบียน แต่ตัวยาที่นำมาเป็นปรุงเป็นส่วนประกอบ จะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย