xs
xsm
sm
md
lg

วธ.ชี้คนไทยดูทีวี-เล่นเฟซบุ๊ก วันละ 9 ชม.ทำสื่อพื้นบ้านหาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วธ.ระบุ คนไทยดูทีวี เข้าเฟซบุ๊ก 9 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลสื่อพื้นบ้านเลือนหายไปจากสังคมไทย เตรียมชงแผนแม่บทสร้างสื่อดีต่อรัฐบาลใหม่ หวังเปิดพื้นที่สร้างสรรค์สื่อใหม่ มีสาระคู่บันเทิง

วันนี้ (23 มิ.ย.) นายสมชาย  เสียงหลาย  ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (ปลัด วธ.) กล่าวภายหลังการประชุมแนวทางโครงการศึกษาการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร ว่า ได้มีการนำข้อเสนอร่างแผนแม่บทสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555-2559) ที่ได้มอบหมายให้สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการศึกษามาพิจารณา ประกอบด้วย การศึกษาแนวคิดพื้นฐาน ของสื่อบุคคล สื่อเก่า สื่อใหม่ สื่อชุมชน และ สื่อสาธารณะ เพื่อนำมากำหนดกรอบการดำเนินการ  สถานการณ์สื่อไทย  เนื่องจาก 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า คนไทยนิยมใช้สื่อเทคโนโลยีมากขึ้น มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถึง  23 ล้านคน  

เมื่อศึกษาเจาะลึกวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของคนไทย ปรากฏว่า หลังจากเวลาการทำงาน และเรียนหนังสือ คนไทยส่วนใหญ่  โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน     จะใช้เวลาว่าง ดูโทรทัศน์ 5 ชั่วโมง/วัน  อีก 4 ชั่วโมงใช้กับการเข้าถึงสื่อใหม่  โดยเฉพาะเพซบุ๊ก ที่มีคนใช้บริการมากถึง 10 ล้านคน เท่ากับคนไทยใช้เวลาว่างกับสื่อเหล่านี้ถึง 9 ชั่วโมง  การใช้เวลาหมอไปกับสื่อเหล่านี้ นับว่าเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้สื่อพื้นบ้านเริ่มสูญหายไปจากสังคมไทย  

ดังนั้น การจัดทำร่างแผนแม่บทสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ฉบับนี้  จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาสื่อ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้เท่าทันสื่อมากขึ้น  เพราะปัจจุบัน สถานการณ์เนื้อหาของสื่อไทยเกือบทุกประเภท ล้วนแต่มีเนื้อหารุนแรง  ซึ่งยุทธศาสตร์ในแผนแม่บทนี้ วางแผนการผลิตสื่อที่สร้างสรรค์เพื่อแย่งชิงพื้นที่สื่อดีกลับสู่สังคมไทยให้ได้ร้อยละ 10  ทั้งการให้ความรู้ และบันเทิง  พร้อมกับสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมภาคสังคม เพื่อให้สื่อมีเนื้อหาที่หลากหลาย โดยให้ประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  วิทยุชุมชน  หรือแม้แต่ส่วนราชการท้องถิ่นได้เข้ามามีบทบาทสำคัญผลิตสื่อร่วมกัน

“อยากให้ทุกภาคส่วนร่วมกันผลิตสื่อที่มีสาระควบคู่กับบันเทิง ให้มีความสนุกตื่นเต้น ไม่อันตราย ที่เน้นย้ำเพราะรู้สึกห่วงเด็ก เยาวชน เนื่องจากสื่อที่มีอยู่ในขณะนี้ล้วนเนื้อหารุนแรง” ปลัด วธ.กล่าว

 นายสมชาย กล่าวว่า วันนี้ในที่ประชุม เห็นว่า ร่างแผนดังกล่าวจะต้องกำหนดแนวทางและกิจกรรมเกี่ยวกับจัดทำสื่อสร้างสรรค์ให้มีความชัดเจน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน  จึงมอบหมายให้สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กลับไปกำหนดรูปแบบการดำเนินงาน จากนั้นจะมีการจัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นจาภาคส่วนสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะสรุปเป็นร่างแผนแม่บทสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อเสนอต่อให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณา ประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน ถ้าหากผ่านการพิจารณา คาดว่า น่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในเดือนตุลาคมนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น