xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ โจทย์ที่รัฐบาลใหม่ ต้องขบคิด!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...จารยา บุญมาก

นอกจากประชากรวัยหนุ่มสาวที่มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว ผู้สูงอายุก็เป็นพลังเสียงอีกกลุ่มหนึ่งที่พรรคการเมืองต่างๆ ไม่ควรละเลย ทว่า นโยบายด้านสวัสดิการสังคมต่อผู้สูงอายุกลับเบาหวิว ผิวเผิน จนสัมผัสได้ยากยิ่ง ที่สำคัญการดูแลผู้สูงอายุหาใช่เพียงหยิบยื่นเบี้ยยังชีพเท่านั้น แต่มิติทางสังคมอย่างความมีคุณค่าและความเข้าอาจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุยิ่งกว่า

รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงเจตนารมณ์ด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาในการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นปัญหาอุปสรรคของการร่วมกำหนดนโยบายสวัสดิการสังคมโดยภาคประชาชน วิเคราะห์ผ่านนโยบายสังคมว่าด้วยปัญหาผู้สูงวัย ว่า จากตัวเลขผู้สูงอายุมีวัยเกิน 60 ปี ในปัจจุบันพบว่า มีราว 7 ล้านคน คาดการณ์ว่า ในปี 2568 มีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 14 ล้านคนและในปี 2593 อาจพุ่งสูงถึง 23 ล้านคน โดยเฉพาะผู้ที่อายุมากกว่า 80 ปี จะมีแนวโน้มเพิ่งถึง 1.8 ล้านคน ในปี 2568 ซึงนับว่าเป็นตัวเลขที่ทุกภาคส่วนต้อเตรียมตัวรับมือ

“แต่เดิมเราห่วงว่าผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง แต่ในความจริงปัญหานี้ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะคนไทยพบการทอดทิ้งคนสูงวัยแค่ร้อยละ 2 เท่านั้น แต่ที่น่าห่วง คือ วัยที่เลยช่วง 80 ปี จำเป็นมีความต้องการพึ่งพิงครอบครัวและบุตรหลานมากในด้านปัญหาสุขภาพ เช่นกรณี เป็นอัมพาต โรคเรื้อรังอย่าง เบาหวาน ความดัน ส่วนนี้เชื่อว่าระบบการแพทย์มีศักยภาพในการช่วยเหลือที่ดี ถึงจะเป็นอย่างนั้นหากมีบริการดูแลสุขภาพกายที่เยี่ยมแต่ แต่สภาวะจิตใจของวัยสูงอายุยังแย่ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นของการป่วยกายได้เช่นกัน เช่น หากผู้สูงอายุรายใด ขาดการติดต่อกับบุตรหลานนานๆก็เกิดความรู้สึกน้อยใจ และมีปัญหาทางอารมณ์ โดยจากการพูดคุยเชิงลึกกับวัย 80 ปี ขึ้นไปนั้น พบว่าอยากมีโอกาสพูดคุยโทรศัพท์กับบุตรหลานในช่วงเวลาที่ห่างกัน และมีกิจกรรมอื่นๆ ทำในเวลาว่างร่วมกับครอบครัว เนื่องจากการสื่อสารต่างวัยทำให้พวกเขามีกำลังใจในการต่อสู้โรคร้ายมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่อยู่ในชนบทและมีบุตรหลานเข้ามาทำงานในเมือง” รศ.ดร.วิพรรณ

ขณะที่ รศ.วุฒิสาร ตันไทย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ในโอกาสที่รัฐบาลใหม่กำลังหาเสียงเลือกตั้งนี้จะเห็นภาพหลายพรรคพยายามยัดเยียดประชานิยมให้ประชาชนกันมาก แต่อยากให้คำนึงถึงปัญหาผู้สูงอายุอย่างจริงจังด้วย เพราะการให้เบี้ยเลี้ยง 500 บาทนั้น ไม่ใช่แนวทางหลักของการรับมือที่ดีกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง และการมุ่งให้สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลแน่นอนว่าเป็นส่วนดี แต่กิจกรรมเชิงรุกเพื่อป้องกันโรคภัยคุกคามผู้สูงอายุก็สำคัญ ไม่แพ้กัน ดังนั้น อยากให้ว่าที่รัฐบาลต้องตั้งโจทย์ในการปรับระบบสังคมด้วย เช่น หากท้องถิ่นมีการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์อยู่แล้ว ทั้งออกกำลังกาย ทำดอกไม้เสริมรายได้ ก็ควรเข้าไปสนับสนุน และควรเชื่อมสังคมให้ได้ คือ ไม่ใช่แยกคนแก่ออกจากวัยอื่น แบบตัดขาดแล้วป้อนเงินไปช่วย แต่ต้องเพิ่มพื้นที่ให้คนต่างวัยอยู่ร่วมกันได้ โดยต้องศึกษาเสียก่อนว่า สังคมเดิมของคนสูงวัยนั้นเป็นอย่างไร มีวัฒนธรรมอะไรที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นบ้าง

รศ.วุฒิสาร กล่าวเพิ่มด้วยว่า ในแถบอาเซียนนั้นอย่างประเทศญี่ปุ่นเคยขึ้นชื่อว่ามีนโยบายเรื่องสุขภาพที่ดี มีประชากรที่อายุยืน แต่พอศึกษาเชิงลึกพบว่า คนแก่ที่สุด คือแก่แบบนอนรักษาตัว ไม่มีปฏิสัมพันธ์ กับใคร สุดท้ายก็ไม่เกิดประโยชน์ ญี่ปุ่นจึงได้ปรับระบบใหม่ คือ การจัดโซนให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมในพื้นที่เดียวกับสนามเด็กเล่น ภาพที่ออกมา คือ การติดต่อกันระหว่างเด็ก คนแก่ ครอบครัว คือ มองแล้วเชื่อว่าสุขภาพของคนสูงวัยดีจริงทั้งจิตใจและร่างกาย หากรัฐบาลมองอะไรที่เป็นองค์รวมมากขึ้นและกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้มีการดูแลผู้สูงอายุด้วยนโยบายในชุมชนของตนเอง เพื่อส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคภัย ภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก็จะลดลงได้ไม่ยาก
รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ
รศ.วุฒิสาร ตันไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น