ถกนโยบายการศึกษา ปชป.ยันเดินหน้าต่อปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 เพื่อไทย ผลักดันการหลักสูตรการเรียนเท่าสากล เพิ่ม ICT คุณหญิงกษมา จบความขัดแย้งจบที่รั้วประตู ร.ร.วอนทุกฝ่ายจับมือ ใช้ ร.ร.เป็นสนามแห่งการร่วมมือ ไม่ใช่สนามรบ
วันนี้ (21 มิ.ย.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับชมรมสื่อมวลชนสายการศึกษา และกลุ่ม For Thailand จัดราชดำเนินเสวนา “ถกนโยบายการศึกษารัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง” ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน โดยมี นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ นายทะเบียนสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ นายคณวัฒน์ วศินสังวร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นำเสนอนโยบาย
นายชินวรณ์ กล่าวว่า แม้จะเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ แต่งบประมาณด้านการศึกษาไม่ได้ลดน้อยลงไป และภายหลังการเลือกตั้ง ไม่ว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นพรรคไหนก็ตาม แต่พรรคประชาธิปัตย์ได้วางกรอบชัดเจนในการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 ไว้แล้ว มีการจัดตั้งกลุ่มศึกษายุทธศาสตร์ และทำหน้าที่ขับเคลื่อนไว้อย่างชัดเจน
ส่วน ปชป.นโยบายเร่งด่วน คือ นโยบายเรียนฟรี 15 ปี และเพิ่มงบกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) อีก 2 แสนล้านบาท สร้างครูพันธุ์ใหม่ เพิ่มงบ และนโยบายให้คนเก่งมาเป็นครูคณิต วิทย์ และอังกฤษ ได้รับทุนเพื่อมาเป็นครูซูเปอร์พรีเมี่ยม และครูพรีเมียม ด้านไอซีที ได้วางโครงข่ายอินเทอร์เน็ต 7 พันล้าน ให้ไปถึงโรงเรียนดีประจำตำบล และจะจัดซื้อคอมพ์ 1 เครื่องต่อ 10 คน
นายคณวัฒน์ กล่าวว่า นโยบายพรรคเพื่อไทย คือ การยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ตามทันสากลโลก และมีความเป็นไทย ไม่อยากเห็นศึกษาไทยเดินตามหลังสากลโดยขาดความเป็นไทย หลักสูตรที่มีต้องมีมาตรฐานสูงเทียบเท่าสากล เพราะปัญหาโลกาภิวัตน์เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาแต่ต้องรักษาความเป็นไทยเอาไว้ เช่น โครงการตำราแห่งชาติ เป็นเรื่องเนื้อหาสาระ นอกจากนี้ จะติดตั้งอินเทอร์เน็ตฟรีไวไฟในที่สาธารณะ โรงเรียน โรงพยาบาล นอกเหนือการแจกแท็บเล็ตพีซี โดยจะเริ่มแจกเด็ก ป.4 ถ้าแจกทั้งหมดแปดล้านคน งบไม่เกิน 5 หมื่นล้าน
“ช่วงระยะเปลี่ยนผ่านเป็นช่วงที่รอไม่ได้ ขีดความสามารถต้องทำทุกนาที ทุกวัน สิ่งที่จะมาเติมเต็มการศึกษา คือ เทคโนโลยี เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่ไม่เท่าเทียมกัน เพราะทุกคนอยากเข้าโรงเรียนที่ดี ซึ่งต้องกระจายปัญหานี้ ในระยะสั้น ที่ทำได้เร็ว คือ ใช้ยุทธศาสตร์ทางเทคโนโลยี ที่ต้องทำไปพร้อมกับการปฏิรูปหลักสูตร ไม่ต้องรอจนจบศึกษา ควรจัดเวทีเสวนาเชิญครูมาทำการวิจัย เพิ่มกระบวรการการเรียนการสอนความเป็นไทย ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญมาก จะต้องผลักดันให้เกิดการวิจัยหลักสูตรและพัฒนาการเรียนการสอน เช่น การบวกเลขจากการทด เป็นการหักออกเต็มๆ”
จากนั้น คุณหญิง กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แสดงความเห็นว่า รัฐบาลชุดใหม่ควรประกาศนโยบายการศึกษาที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ กลุ่มเด็กที่อ่อนด้อยที่สุดในระบบการศึกษา หลุดออกและตกหล่นจากระบบการศึกษาในปัจจุบันเป็นเป้าหมายที่ทุกหน่วยงานต้องให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น พรรคการเมืองเคยเข้าไปศึกษาเด็กกลุ่มนี้ แต่ไม่ได้ถูกนำมาเป็นนโยบาย ทั้งนี้นโยบายด้านการศึกษาที่ทั้ง 2 พรรคนำเสนอนั้น จะสามารถเข้าถึงเด็กกลุ่มนี้ได้จริงหรือไม่
คุณหญิง กษมา กล่าวต่อว่า ควรเพิ่มงบประมาณในการดูแลเด็กทุกคนที่โตมาในสถานการณ์ที่ยากไร้ ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการต้องยอมรับ และให้หน่วยงานอื่นเข้ามาทำงานเพื่อการเรียนรู้ของเด็ก เรียกร้องให้หาคนดีมีฝีมือ และเข้าใจด้านการศึกษามาเป็นรัฐมนตรี เพราะข้าราชการเบื่อรัฐมนตรีฝึกงาน ที่ยังไม่รู้จริง ไม่เข้าใจและใช้เวลาการศึกษานานกว่าจะทำงานได้ รวมทั้งพรรคการเมืองควรมีการสานต่อนโยบาย มีระบบการศึกษาที่ต่อเนื่อง เน้นนโยบายระยะยาว อย่าเน้นแค่นโยบายระยะสั้นที่ดูดี หวือหวา แต่ไม่ใช่ของจริง
“งบประมาณด้านการศึกษาต้องเพิ่มมากขึ้น ให้ตรงกลุ่มคนที่ควรได้ หรือจำเป็นต้องได้ ที่ผ่านมา เป็นการลงทุนที่ไม่ตรงจุด สำหรับนโยบายการแจกอุปกรณ์ ICT ที่เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ของเด็กเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็มีปัญหามาก ต้องทำการศึกษาให้ดี ที่ผ่านมามีนโยบายดีๆ เช่น นโยบายไม่รับฝากเด็กเข้าเรียน แม้จะยังไม่สำเร็จ 100% แต่เป็นโครงการที่น่าส่งเสริม ควรศึกษาต่อว่าจะแก้ไขให้สมจริงได้อย่างไร”คุณหญิง กษมา ฝากว่า ขอให้ทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน ทุกพรรคการเมืองต้องจับมือกัน ให้ความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจบลงที่ประตูโรงเรียน เล็งเห็นความสำคัญว่าการศึกษาของเด็กเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ให้โรงเรียนเป็นสนามแห่งการร่วมมือ ไม่ใช่สนามรบ