xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด กพฐ.เห็นชอบร่างมาตรฐานศูนย์การศึกษาพิเศษแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บอร์ด กพฐ.เห็นชอบร่างมาตรฐานศูนย์การศึกษาพิเศษ เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาและประเมินผลการจัดการศึกษาเด็กพิเศษ

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ที่ผ่านมา ได้พิจารณาเห็นชอบร่างมาตรฐานการศึกษาศูนย์การศึกษาพิเศษ เพื่อการประกันคุณภาพภายในโดยครั้งนี้ที่ประชุมได้เสนอ 6 มาตรฐาน 33 บ่งชี้ ได้แก่ 1.มาตรฐานด้านผู้เรียน มี 2 ตัวบ่งชี้ ซึ่งจะเน้นการพัฒนาผู้เรียนตามที่กำหนดไว้ในแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล และแผนการให้บริการช่วยเหลือเฉพาะครอบครัว ให้ผู้เรียนสามารถพึ่งพาตนเองได้ 2.มาตรฐานด้านครู มี 9 ตัวชี้วัด ที่เน้นให้ครูนั้นมีวุฒิการศึกษา ความรู้ตรงกับงานที่รับผิดชอบ มีความเข้าใจในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ รู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคล สามารถจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะผู้เรียนเป็นคน เป็นต้น 3.มาตรฐานด้านผู้บริหาร มี 6 ตัวบ่งชี้ โดยผู้บริหารจะต้องปฏิบัติตามหน้าที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ มีวิสัยทัศน์ มีภาวะผู้นำ มีหลักบริหารจัดการทั้งด้านครู บุคลากร ผู้ปกครอง ให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาผู้เรียนได้
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
4.มาตรฐานด้านการจัดการศึกษา มี 7 ตัวบ่งชี้ ที่เน้นไปเรื่องจัดทำหลักสูตร การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน การช่วยเหลือที่สอดคล้องกับประเภทความพิการ รวมถึงจัดสภาพแวดล้อม จัดหาเทคโนโลยี สื่อการเรียนการสอนที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการ สนับสนุนการเรียนร่วมอย่างเป็นระบบโดยประสานกับการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการในจังหวัด 5.มาตรฐานด้านสังคมแห่งการเรียนรู้ 3 ตัวบ่งชี้ เป้าหมายเน้นให้ศูนย์การศึกษาพิเศษพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้เรียน ผู้ปกครอง ชุมชนท้องถิ่นเข้าถึง ใช้ประโยชน์และเข้ามามีส่วนร่วมในการรับผิดชอบช่วยเหลือคนพิการในท้องถิ่นได้ และ 6.มาตรฐานด้านการประกันคุณภาพ 6 ตัวบ่งชี้ โดยในมาตรฐานนี้ศูนย์การศึกษาพิเศษทุกแห่งจะต้องจัดทำระบบประกันคุณภาพภายในตามที่กำหนดในกฎกระทรวงศึกษา

สาเหตุที่ต้องกำหนดมาตรฐานและตัวบ่งชี้ของการประกันคุณภาพภายในนั้น เพราะต้องการให้เชื่อมโยงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาพิเศษในภาพรวมทั้งผู้บริหาร ครู และคุณภาพการจัดการศึกษาของเด็กพิเศษ เพราะศูนย์การศึกษาพิเศษ นั้นมีหน้าที่ในการดูแลเตรียมความพร้อมให้เด็กที่มีความพิการทางร่างกาย พิการทางการได้ยิน สติปัญญา หรือการมองเห็น เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาแก้ไขในข้อบกพร่องของเด็กพิเศษ เป็นการเตรียมพร้อมที่สำคัญก่อนจะก้าวไปสู่การเรียนร่วมในโรงเรียนปกติ” นายชินภัทร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น