xs
xsm
sm
md
lg

อธิการ มมส.แจงคลิปเชียร์ไม่รุนแรง ทปอ.ออกกฎเหล็กรับน้อง 7 ข้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าว
อธิการ มมส.แจงภาพคลิปรับรุนแรงไม่จริง เป็นการประชุมเชียร์ธรรมดา ระบุคำพูดเป็นการหยอกล้อเป็นเรื่องของจิตวิทยา ด้าน ที่ประชุม ทปอ.มีมติกำหนด 7 มาตรการรับน้อง ขณะที่ อธิการ ม.วลัยลักษณ์ เผยรับน้องมหา’ลัยเน้นกิจกรรมสร้างสรรค์ และไม่ให้มีพี่ว๊าก ในสถาบัน

นายศุภชัย สมัปปิโส อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) กล่าวถึงกรณีมีคลิปภาพการรับน้องรุนแรง ที่ระบุว่าเป็นกิจกรรมรับน้องของ มมส. ว่า มหาวิทยาลัยดำเนินการตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)เรื่องการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่ละประชุมเชียร์ในสถาบันอุดมศึกษา และดำเนินการตามกรอบของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)ทุกอย่าง ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงมหาวิทยาลัยไม่มีการรับน้องอยู่แล้ว ส่วนภาพเหตุการณ์ที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นกิจกรรมการประชุมเชียร์ของนิสิต นักศึกษา เป็นภาพในกิจกรรมที่รุ่นพี่สอนรุ่นน้องร้องเพลง ซึ่งมีการจัดทั้งหมด 5 วัน และจัดขึ้นเพื่อให้รุ่นพี่รู้จักรุ่นน้อง ซึ่งตนเองเห็นว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นไม่มีความรุนแรง แต่ในวันสุดท้ายก็มีกลุ่มนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมดังกล่าวมาถือป้ายประท้วง

“คำพูดของนิสิตคนหนึ่งขึ้นไปพูดบนเวทีนั้นอาจใช้คำพูดไม่เหมาะสม และทางรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิตได้ตำหนิไปแล้ว แต่เราจะไปจับผิดกับเด็กที่พูดเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะเด็กอยู่ในวัยนี้ก็อาจจะมีคำพูดที่คึกคะนองออกมาบ้าง การที่มิสิตชั้นปี1เป็นลม เป็นเรื่องปกติที่ใครก็สามารถเป็นลมได้ ไม่ได้กินข้าวก็เป็นลม ผมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำเรื่องนี้ให้เป็นประเด็น และกลายเป็นความผิดและที่สำคัญมหาวิทยาลัยของเราไม่มีระบบโซตัส กิจกรรมที่เห็นเป็นการประชุมเชียร์คำพูดที่ออกมาเป็นการหยอกล้อระหว่างที่รุ่นพี่กับรุ่นน้องเป็นจิตยา อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นทางมหาวิทยาลัยก็ต้องไปทบทวนกระบวนการทั้งหมด และต่อไปจะให้การจัดกิจกรรมของนิสิตเป็นกิจกรรมที่สามารถเปิดเผยและตรวจสอบได้”อธิการ มมส. กล่าว

ด้าน ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ที่ประชุม ทปอ.ได้หารือเรื่องปัญหาการรับน้องใหม่ว่าควรจะจัดกิจกรรมที่เน้นแนวทางสร้างสรรค์ และเห็นร่วมกันกำหนดเป็นมาตรการ 7 ข้อซึ่งสอดคล้องกับประกาศของ ศธ. ดังนี้ 1.ไม่ให้มีการจัดกิจกรรมรับน้องนอกสถานที่ 2.ให้เปิดสาย Call center ของมหาวิทยาลัยเพื่อให้ผู้ปกครองสามารถติดต่อสอบถาม หรือรับเรื่องราวต่าง ๆ 3.ไม่ให้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการจัดกิจกรรมรับน้อง 4.ไม่ให้จัดกิจกรรมที่เป็นการทารุณรุ่นน้อง เช่น โยนบก หยดน้ำตาเทียนตามร่างกาย ฯลฯ 5.ไม่ให้มีการแสดงอากัปกิริยาที่ส่อไปในทางลากมอนาจาร 6.ให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งที่มีศูนย์รักษาพยาบาล หรือโรงพยาบาลเตรียมความพร้อมในการดูแลนิสิต นักศึกษา และพร้อมรับมือกับเหตุการณ์โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นในแต่ละฤดูกาล และ7.ให้กลุ่มเครือข่ายนิสิต นักศึกษาต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยร่วมกันเป็นหูเป็นตาในการแจ้งข่าวสาร

ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า การรับน้องของม.วลัยลักษณ์จะดำเนินการก่อนเปิดภาคเรียน 5-6 วัน เน้นปฏิบัติตามประกาศ ศธ.และประกาศของทางมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้มีการจัดกิจกรรมรับน้องนอกสถานที่ และเมื่อเปิดภาคเรียนก็ห้ามไม่ให้มีการรับน้อง โดยปีนี้ได้จัดกิจกรรมไปวันที่ 18-23 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยกิจกรรมของม.วลัยลักษณ์จะมีนักศึกษาชั้นปี 2 ของทุกคณะรวมตัวกันทำงานภายใต้ชื่อกลุ่มสัมพันธ์ ซึ่งนักศึกษากลุ่มนี้จะต้องผ่านการอบรมทำความเข้าใจถึงการรับน้องที่ปลอดภัย สร้างสรรค์ นอกจากนี้ได้ขอความร่วมมือจากอาจารย์ในการช่วยตรวจสอบหากพบว่ามีการรับน้องไม่เหมาะสมด้วย ซึ่งหากพบก็จะมีการลงโทษ โดยการลงโทษจะขึ้นอยู่กับความผิดที่กระทำแต่ที่ผ่านมายังไม่เคยพบปัญหา

“เราจัดกิจกรรมเน้นสร้างสรรค์ ปลอดภัย ซึ่งการจัดรับน้องที่ผ่านมาเป็นไปเรียบร้อย โดยเรายังเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองที่สนใจเข้ามาพักที่มหาวิทยาลัยเพื่อติดตามดูการรับน้องอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญการรับน้องของ ม.วลัยลักษณ์จะเน้นหลัก 4 รู้ คือ รู้รักเรียน รู้รักสถาบัน รู้รักสัมพันธ์ และรู้รักชุมชน ซึ่งกิจกรรมรับน้องที่ได้ผลดีมากที่สุดคือ รู้รักสัมพันธ์ เพราะเป็นความสัมพันธ์อันดีระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง ที่นี่ห้ามไม่ให้มีพี่วินัย หรือ พี่ว๊าก เราไม่ต้องการตรงนี้ แต่เราต้องการสร้างค่านิยมของความรักใคร่ การหยิบยื่นสิ่ง ๆ ดีให้แก่กันระหว่างรุ่นสู่รุ่น”ดร.กีร์รัตน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น