xs
xsm
sm
md
lg

4 ข้อยอดฮิต ความเข้าใจผิดๆ ในการใช้ยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แนะ! คนไทยหันมาใส่ใจวิธีการใช้ยาอย่างถูกต้องเพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของยา โดยเฉพาะยาพื้นฐาน ทั้งยาหม่อง ยาแก้ไอ และยาคุมกำเนิด ชี้มักจะใช้บ่อยๆ แต่กลับใช้แบบผิดๆ
ภญ.รศ.ดร.บุษบา จินดาวิจักษณ์ อุปนายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย)
ภญ.รศ.ดร.บุษบา จินดาวิจักษณ์ อุปนายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า โดยปกติคนไทยเป็นคนที่มีนิสัยง่ายสบายๆ อยู่แล้ว เมื่อจำเป็นต้องใช้ยาสามัญประจำบ้านที่คุ้นเคย จึงอาศัยความเคยชิน ความคุ้นเคยในการใช้ยามากกว่าการอ่านฉลาก อีกทั้งนิสัยคนไทยยังเชื่อฟังผู้หลักผู้ใหญ่ เพื่อนหรือผู้มีประสบการณ์ จึงใช้ยาตามคำบอกเล่าของบุคคลต่างๆ โดยมักไม่อ่านฉลากยาเช่นกัน โดย 4 ข้อหลักๆ ที่เป็นความเข้าใจผิดยอดฮิตเกี่ยวกับการใช้ยาที่มักพบบ่อย ได้แก่
 
1. ทายาหม่องทันทีเมื่อฟกช้ำ: เป็นเรื่องเคยชินเมื่อเกิดหกล้ม กระทบกระแทกจนได้แผลบวมฟกช้ำดำเขียว และปวด คนส่วนใหญ่จะหยิบยาหม่องขึ้นมาถูนวดบรรเทาอาการทันที แต่แท้จริงแล้ว เมื่อร่างกายได้รับแรงกระแทก เส้นเลือดฝอยบริเวณผิวหนังจะขาดทำให้มีเลือดคั่งเกิดขึ้น ก่อให้เกิดอาการบวมและปวด ซึ่งหากทายาหม่องทันทีจะทำให้บวมมากขึ้น เพราะเมื่อขี้ผึ้งเสียดสีกับร่างกาย โดยการถูนวดจะทำให้เกิดความร้อนจะส่งผลให้เส้นเลือดฝอยขยายตัว เลือดจึงยิ่งมาคั่งบริเวณนั้นมากขึ้น ทำให้บวมยิ่งขึ้นอีกด้วย การรักษาที่ถูกต้องควรใช้ผ้าเย็นประคบเพื่อทำให้เส้นเลือดฝอยหดตัว แล้วอาการบวมจะยุบลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งความเย็นยังช่วยบรรเทาความเจ็บปวดลงด้วย หลังจากนั้นจึงทายาหม่องที่มีตัวยาระงับอาการเจ็บปวด ลดอักเสบ

2. ยาแก้ไอกินคนเดียวจิบจากขวดสะดวกดี : ไม่ควรจิบยาแก้ไอจากขวดโดยตรง เพราะเชื้อโรคจากปากและคอจะลงไปปนในขวดยาได้ นอกจากนี้ ขนาดยาที่ได้รับในแต่ละครั้งจะไม่เท่ากันเพราะจะจิบเล็กจิบใหญ่ไม่เท่ากัน โดยเฉพาะผู้ป่วยบางรายจะจิบยาแก้ไอทุกครั้งเมื่อไอ อาจทำให้ได้รับยาเกินขนาด แม้อาจไม่เป็นอันตรายร้ายแรงนัก แต่หากเป็นยาแก้ไอที่มีตัวยาโคเดอีนเป็นส่วนผสม หรือยาแก้ไอน้ำดำ หากจิบอึกใหญ่เกินไป หรือถี่เกินไป อาจจะได้ปริมาณยามากเกินไปจนอาจกดการหายใจได้ นอกจากนี้ ยาแก้ไอที่มีตัวยาโคเดอีน หรือยาแก้ไอน้ำดำ ยังมีอาการข้างเคียงส่งผลให้ง่วงนอนและมึนงงได้ จึงต้องหลีกเลี่ยงการทำงานกับเครื่องจักร จักรเย็บผ้า ขับรถ การใช้ยาที่ถูกต้อง ควรใช้ช้อนมาตรฐานตวงยารับประทานทุกครั้ง และมีช่วงห่าง 4-6 ชั่วโมงให้แน่นอน (1 ช้อนชา เท่ากับ 5 ซีซี, 3 ช้อนชา เท่ากับ 1 ช้อนโต๊ะ)
ยาหม่อง
3. ลืมกินยามื้อหนึ่งรวบยอดไปมื้อถัดไป : เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง การกินยาแบบรวบยอดไปมื้อถัดไป อาจส่งผลให้ได้รับยาเกินขนาด โดยเฉพาะในกลุ่มที่กินยาปฏิชีวนะหรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น เพราะหากระดับยาในเลือดสูงๆ ต่ำๆ จะทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร การใช้ยาที่ถูกต้อง หากลืมกินยามื้อหนึ่งควรกินทันทีเมื่อนึกได้ แต่ไม่ควรรวบเป็น 2 เท่าในมื้อถัดไป และควรกินยาอย่างสม่ำเสมอทุกวันตามเวลาที่กำหนดเพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด อีกหนึ่งปัญหาที่พบบ่อย คือ ผู้ป่วยลดหรือเพิ่มขนาดยาเองตามความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็น อยากหายไวๆ รู้สึกอาการดีขึ้นแล้ว คิดว่ากินยาแล้วไม่ได้ผล เป็นต้น ในกรณีนี้ผู้ป่วยควรรู้ว่าที่อาการผู้ป่วยดีขึ้นนั้นเป็นผลมาจากขนาดยาที่แพทย์สั่งให้นั้นเหมาะสมแล้ว การใช้ยาที่ถูกต้อง ควรกินยาตามขนาดที่แพทย์สั่งเท่านั้น อ่านฉลากทุกครั้งก่อนกินยา เพราะแพทย์อาจมีการปรับขนาดยาจากที่เคยได้รับ

4. ลืมกินยาคุมกำเนิดบางวันคงไม่เป็นไร : ในกรณีนี้หากลืมกินยาคุมกำเนิดให้รีบกินทันทีที่นึกได้ แต่ไม่ควรเกิน 12 ชั่วโมงนับจากเวลาที่กินปกติ เพราะอาจทำให้การคุมกำเนิดไม่ได้ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าลืมกินในช่วง 7-10 เม็ดแรก ควรหยุดยาและเปลี่ยนวิธีคุมกำเนิดเป็นการใช้ถุงยางอนามัย หลังจากหยุดยาแผงนั้นและมีเลือดประจำเดือนออกแล้วก็เริ่มยาแผงใหม่ได้ แต่หากลืมกินในเม็ดที่ 15 ของแผงไปแล้วอาจไม่ส่งผลต่อการคุมกำเนิด แต่อาจมีผลข้างเคียงทำให้เลือดออกกระปริดกระปรอยได้ การใช้ยาที่ถูกต้องควรกินยาอย่างสม่ำเสมอทุกวันและตรงเวลา เพื่อให้มีระดับยาในเลือดสม่ำเสมอ ลดโอกาสที่จะมีเลือดออกและการคุมกำเนิดจึงจะได้ผลเต็มที่

อุปนายกสมาคมเภสัชกรรมฯ กล่าวในตอนท้ายว่า การใช้ยามีเคล็ดลับง่ายๆ เพียงใช้ตามที่ฉลากเขียนไว้ ใช้ตรงเวลา ไม่ขาดยา หากไม่เข้าใจหรือมีข้อสงสัยให้ปรึกษาเภสัชกร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดของการใช้ยา เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคุณเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น