xs
xsm
sm
md
lg

"ฉี่หนู"!ดุ เตือนเกษตรกรระวัง ปีนี้ป่วยแล้วกว่า 600 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต


"หมอไพจิตร์" กำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม.ทั่วประเทศเฝ้าระวังโรคฉี่หนูอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันและควบคุมโรค ซึ่งโรคพบได้ตลอดปี ในทุกภาคของประเทศเตือนผู้ที่สัมผัสดิน และน้ำ เป็นเวลานานๆ เช่น ชาวไร่ ชาวนา กรรมกร คนจับปลา หรือผู้มีแผลที่เท้าต้องระวังหลีกเลี่ยงการลุยน้ำย่ำโคลน หากจำเป็นให้สวมรองเท้าบู๊ท ปีนี้มีผู้ป่วยแล้ว601ราย มากที่สุดในภาคอีสานร้อยละ 49 รองลงมาภาคใต้ร้อยละ 36 เสียชีวิตรวม 11ราย

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือโรคไข้ฉี่หนู เป็นโรคที่พบผู้ป่วยได้ตลอดปีแต่จะพบมากในช่วงกรกฎาคม-กันยายนทุกปี ซึ่ง เป็นช่วงฤดูกาลทำการเกษตร ทำไร่ ทำนา ฝนตกชุก มีน้ำท่วมขังในหลายพื้น ผู้ที่ต้องสัมผัสดิน และน้ำ เป็นเวลานาน ๆ เช่น ชาวไร่ ชาวนา กรรมกร คนจับปลา เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้ฉี่หนูที่ปนเปื้อนตามแหล่งน้ำ และดินที่ชื้นแฉะโดยในปี 2554ตั้งแต่มกราคม-พฤษภาคม สำนักระบาดวิทยา รายงานผู้ป่วยโรคฉี่หนูทั่วประเทศ  601รายเสียชีวิต 11ราย พบผู้ป่วยทุกภาค มากที่สุดในภาคอีสานพบร้อยละ 49 รองลงมาภาคใต้ร้อยละ 36เนื่องจากประสบอุทกภัยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่วนจังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุดได้แก่ นครศรีธรรมราช 61ราย ศรีสะเกษ 49 รายและสุรินทร์ 44ราย  อาชีพที่พบสูงสุดได้แก่ เกษตรกร รองลงมาอาชีพรับจ้าง และนักเรียน

นพ.ไพจิตร์กล่าว ว่า แม้ว่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จะพบผู้ป่วยน้อยกว่าปี 2553 ในช่วงเวลาเดียวกัน ประมาณร้อยละ 50 แต่ในพื้นที่ที่เคยมีรายงานการระบาดของโรค รวมทั้งพื้นที่ที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ประสบอุทกภัย มีน้ำท่วมขังหรือ อยู่ในที่แออัด มีหนูชุกชุม จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ  ประกอบกับปีนี้มีฝนตกจำนวนมากและฝนตกเร็วกว่าปกติ จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม.ทั่วประเทศเฝ้าระวังโรคฉี่หนูอย่างใกล้ชิดเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้วิธีการป้องกันตัวแก่ประชาชน ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินย่ำน้ำหรือการแช่น้ำนานๆเพื่อลดการป่วยและการเสียชีวิต

 
นพ.ไพจิตร์กล่าวต่อว่า โรคฉี่หนู เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อยู่ในฉี่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นแหล่งรังโรคเช่น หนู วัว ควาย เชื้อโรคนี้มีชีวิตอยู่ในน้ำได้หลายเดือน สามารถเข้าสู่ร่างกายได้  2วิธี คือจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อฉี่หนูเข้าไปและเชื้อเข้าทางแผล เยื่อบุ ในปาก หรือตา หรือแผล ผิวหนังปกติที่เปียกชื้น เชื้อก็สามารถไชผ่านไปได้ หลังได้รับเชื้อ ประมาณ 7-10วันจะเริ่มมีอาการ โดยจะมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อมาก ปวดน่องหากมีอาการให้รีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้ทราบด้วยเนื่อง จากโรคนี้มียารักษาหายขาด หากไม่รีบรักษาและปล่อยไว้นานจนอาการมากขึ้น อาจเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนปอดบวม หัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้ออักเสบ สมองและไขสันหลังอักเสบ ไตวาย

ดั้งนั้น การป้องกันโรคฉี่หนูควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน ถ้ามีบาดแผล รอยถลอก รอยขีดข่วนควร งดลงน้ำ หากจำเป็นต้องลุยน้ำต้องสวมรองเท้าบู๊ท ผู้ที่ต้องทำงานสัมผัสดิน น้ำ หรือเดินลุยน้ำท่วมขัง เสร็จงานต้องรีบอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดเช็ดตัวให้แห้ง ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุกดูแลบ้านเรือนให้สะอาดกำจัดขยะไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ ปิดอาหารให้มิดชิดป้องกันไม่ให้หนูฉี่รดอาหารอาหารที่ค้างคืนให้อุ่นให้เดือดก่อนรับประทาน  สำหรับผู้ที่นำหนูมาประกอบอาหาร ให้สวมถุงมือขณะชำแหละและปรุงให้สุกก่อนรับประทาน
กำลังโหลดความคิดเห็น