สธ.ย้ำเตือนเกษตรกรระวังฉี่หนู หลังลงไร่-นา หากมีไข้สูง ปวดน่อง ปวดหัวรุนแรง หนาวสั่น รีบพบแพทย์ทันที เพราะอันตรายถึงชีวิต หลังพบปีนี้ป่วยกว่า 548 ราย ตาย 12 ราย ด้านปลัด สธ.เร่ง อสม.ลงพื้นที่ให้ความรู้ปชช.
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เร่งประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนเกษตรกรระวังโรคฉี่หนู หลังเดินลุยน้ำขัง ย่ำโคลนในนาไร่ หากมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะอย่างรุนแรง และมีอาการปวดน่อง ขอให้สงสัยอาจติดเชื้อไข้ฉี่หนู ให้รีบพบแพทย์เพื่อป้องกันการเสียชีวิต ซึ่งโรคนี้มียารักษาหาย โดยปีนี้ทั่วประเทศพบป่วยแล้ว 548 ราย เสียชีวิต 12 ราย
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน เกษตรกรเริ่มทำไร่ ทำนา มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) สูงกว่าฤดูกาลอื่น ในการเตรียมรับมือของกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านทั่วประเทศ ดำเนินการให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรคดังกล่าวอย่างเต็มที่ เนื่องจากขณะนี้สามารถพบผู้ป่วยโรคฉี่หนูได้ทุกภาค และสั่งการให้โรงพยาบาลทุกแห่งดำเนินการตรวจคัดกรองและซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียด โดยเฉพาะประวัติการเดินลุยน้ำย่ำโคลน เพื่อป้องกันการเสียชีวิต เนื่องจากโรคนี้มียารักษาหาย
นพ.สุพรรณกล่าวอีกว่า โรคฉี่หนูเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเชื้อดังกล่าวจะอยู่ในฉี่ของหนูเป็นส่วนใหญ่ ตัวเชื้อโรคจะมีลักษณะเป็นเกลียว แพร่ระบาดในแหล่งน้ำได้รวดเร็ว โดยเชื้อจะมีชีวิตอยู่ในน้ำได้นานไม่น้อยกว่า 3 สัปดาห์ สามารถเข้าสู่ร่างกายคน โดยไชผ่านทางผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน หรือไชผ่านเยื่อบุตา ทางบาดแผล แม้กระทั่งรอยขีดข่วน เมื่อเข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว
“อาการของโรคฉี่หนูที่พบได้บ่อย คือ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ตาแดง คลื่นไส้อาเจียน ขอให้สงสัยว่าอาจป่วยเป็นโรคฉี่หนู อาการที่เป็นลักษณะค่อนข้างเฉพาะของโรคนี้คืออาการปวดที่กล้ามเนื้อบริเวณน่อง พบได้ประมาณร้อยละ 40-100 ของผู้ป่วย หากประชาชนมีอาการดังกล่าว ขอให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรงที่ทำให้เสียชีวิตได้ เช่น ตับวาย ไตวาย ทั้งนี้โรคนี้หลังรักษาหายแล้วอาจสามารถติดเชื้อและป่วยซ้ำอีกได้ ในปี 2554 นี้ ทั่วประเทศพบผู้ป่วยโรคฉี่หนู 548 ราย กระจายทุกภาค เสียชีวิต 12 ราย ส่วนใหญ่พบในวัยแรงงานอายุ 25-54 ปี” นพ.สุพรรณกล่าว