xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” ลงนามประกาศกระทรวงคุมฉลากบุหรี่กัน ปชช.เข้าใจผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
“จุรินทร์” ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 15 คุมฉลากบุหรี่ ป้องกันประชาชนเข้าใจผิด ย้ำผู้ผลิตผู้นำเข้าต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เผยข้อมูลน่าสนใจเยาวชนไทยซื้อบุหรี่ง่ายที่ร้านขายของชำใกล้ที่พักอาศัย

นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 15 พ.ศ. 2554 ว่าด้วยเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงคำหรือข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในฉลากบุหรี่ซิกาแรต บุหรี่ซิการ์และยาเส้น ตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 โดยได้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2549 โดยจะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นายบุณย์ธีร์กล่าวต่อว่า สาระสำคัญของประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 15 เพื่อป้องกันมิให้มีการปรากฏคำหรือข้อความบนฉลากบุหรี่ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เนื่องจากธุรกิจยาสูบมีความพยายามหาช่องว่างของกฎหมายที่จะทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยใช้ถ้อยคำต่างๆ เพื่อทำให้ผู้บริโภคมองเห็น และอาจเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ยาสูบนั้นๆ มีคุณภาพดี ไม่มีอันตราย หรือมีอันตรายน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ จึงต้องทำการควบคุมข้อความบนฉลาก โดยให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดโดย ฉลากบนซอง กล่อง ภาชนะบรรจุ หรือวัสดุหุ้มห่อบุหรี่ซิกาแรต บุหรี่ซิการ์ ยาเส้นปรุงที่ผลิตหรือนำเข้าในราชอาณาจักร จะต้องไม่มีคำหรือข้อความดังนี้

1.มายด์ (Mild), มีเดียม (Medium), ไลต์ (Light), อัลตราไลต์ (Ultralight) หรือโลว์ทาร์ (low tar) ที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่ามีอันตรายหรือระดับสารพิษน้อยกว่าบุหรี่ซิกาแรต ซิการ์

2. ห้ามใช้คำว่า คูล (cool), ไอซ์ (ice), ฟรอสต์ (Frost), คริสป์ (Crisp), เฟรช (Fresh), มินต์ (Mint), เมลโลว์ (Mellow), ริช (Rich), “ฉุน” หรือ “ฉุนพิเศษ” รวมทั้งคำที่แสดงกลิ่นหรือรส จูงใจผู้บริโภค

3. ห้ามใช้คำว่า สมูท (Smooth), เนเจอรัล (natural), สเปเชียล (special), จีนูอิน (genuine), ลูมินัส (luminous), เอ็กซ์ตรา (extra), พรีเมียม (premium), “อย่างดี” หรือ “คัดพิเศษ” รวมทั้งคำหรือข้อความที่แสดงกลิ่นหรือรส จูงใจผู้บริโภคให้บริโภคบุหรี่ฯ

นายบุณย์ธีร์กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์การบริโภคยาสูบของสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค ปัจจุบันพบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่จำนวน 10,905,191 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ จำนวน 9,546,914 คน สูบเป็นครั้งคราวจำนวน 1,358,277 คน โดยพบว่ากลุ่มผู้สูบอยู่ในช่วงอายุ 25-40 ปี ร้อยละ 23 นอกจากนี้ยังพบว่าคนไทยสูบบุหรี่วันละ 10-14 มวนต่อคนต่อวัน มีค่าใช้จ่ายต่อวันในการซื้อบุหรี่ซิกาแรต 19 บาทต่อคน โดยซื้อจากร้านขายของชำเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ร้านสะดวกซื้อ
กำลังโหลดความคิดเห็น