xs
xsm
sm
md
lg

“หูชั้นกลางอักเสบในเด็ก” ไม่ใช่เรื่องเล็กอย่างที่คิด!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"หูชั้นกลางอักเสบ” โรคคุ้นหูที่พ่อแม่หลายๆ คนอาจจะคิดว่าไม่รุนแรง แต่รู้หรือไม่ว่าเด็กทุกคนที่มีอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ต้องเคยเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบมาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งโรคนี้อาจจะลุกลามจนทำให้เป็นโรคติดเชื้อรุนแรง ส่งผลให้กลายเป็นหูหนวก และร้ายไปกว่านั้น คืออาจก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบด้วย
หากมีอาการผิดปกติ ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจช่องหู
ผศ.พญ.นันทิการ์ สันสุวรรณ จากภาควิชา โสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า โรคหูชั้นกลางอักเสบ นับเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่อาจนำไปสู่โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ รวมถึงการติดเชื้อในอวัยวะอื่นๆ เนื่องจากหูอยู่ในบริเวณฐานสมอง และมีช่องทางเชื่อมถึงกันได้หมด

สาเหตุของโรคหูชั้นกลางอักเสบ สามารถเกิดได้ ทั้งจากการติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย โดยที่เกิดจากเชื้อไวรัส ร่างกายสามารถรักษาให้หายเองได้ ส่วนโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะทำให้หายช้า และสามารถเป็นซ้ำได้อีก หรือเป็นพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง และใช้เวลาในการรักษานาน โดยเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบที่พบบ่อยคือ เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส และ เชื้อฮีโมฟิลุส (เอ็นทีเอชไอ) ซึ่งเป็นเชื้อที่พบในลำคอและโพรงจมูกของเด็กเล็ก เป็นเชื้อที่มีความรุนแรง แฝงตัวมากับเชื้อหวัดและปอดบวม
หูชั้นกลางที่อักเสบชนิดมีของเหลวขัง
ผศ.พญ.นันทิการ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา พ่อแม่มักจะมองข้ามอันตรายของโรคหูชั้นกลางอักเสบ เพราะโรคหูชั้นกลางอักเสบมักแฝงมาพร้อมกับโรคไข้หวัด และอาการจะเหมือนกับอาการข้างเคียงของไข้หวัด เช่น หูอื้อ เจ็บหู ฟังไม่ค่อยได้ยิน พ่อแม่จึงเข้าใจว่าเป็นผลมาจากเด็กเป็นไข้ไม่สบายเท่านั้น และคิดว่าอาการหูอักเสบนี้จะหายไปเองเมื่อเด็กหายป่วย แต่ในความเป็นจริงแล้วเด็กที่ป่วยเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบนี้ หากไม่ได้รับการตรวจหูและรักษาอย่างจริงจัง แม้อาการภายนอกจะหายไป แต่เชื้อโรคจะยังคงแฝงตัวมีอาการซ่อนเร้นอยู่ ซึ่งอันตรายมาก เพราะนอกจากจะมีโอกาสพัฒนาไปสู่หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังและกลายเป็นโรคหูน้ำหนวก ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการเรียนรู้และพัฒนาการที่สมบูรณ์ของเด็กๆ แล้ว เพราะพัฒนาการด้านการได้ยิน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ที่สำคัญยังมีโอกาสเป็นโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดบวม หรือเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้อีกด้วย

ดังนั้น พ่อแม่จึงควรสังเกตลูกน้อยอย่างใกล้ชิด หากลูกเป็นหวัด ไม่สบาย มีไข้สูง ร้องกวนจนผิดสังเกต เอามือกุมหู หรือปวดหูมากในเวลากลางคืน หากลูกมีอาการผิดปกติดังที่กล่าวมา ควรรีบปรึกษากุมารแพทย์เพื่อตรวจหูและรับการรักษาอย่างถูกวิธี” ผศ.พญ.นันทิการ์ทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น