รองเลขาธิการสภาการศึกษา พิจารณาร่างยุทธศาสตร์ 6 ข้อ เน้นพัฒนาการศึกษา เสนอภาคเอกชนมีส่วนร่วมจัดการศึกษาไม่น้อยกว่าร้อยละ 50
น.ส.สุทธาสินี วัชรบูล รองเลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษา (กกศ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้พิจารณาร่าง ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของเอกชนในการจัดการศึกษา ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้นำเสนอเข้าสู่การพิจาณา 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1.การส่งเสริมให้โรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีบทบาทในการจัดและร่วมจัดในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ยุทธศาสตร์ที่ 2.เปลี่ยนบทบาทการจัดการศึกษาของภาครัฐ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่โรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจัดได้ดี มีคุณภาพ โดยรัฐมุ่งเน้นการสนับสนุนวิชาการ ติดตาม และประเมินผล ยุทธศาสตร์ที่ 3.ส่งเสริมสนับสนุนให้โรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐาน
ยุทธศาสตร์ที่ 4.ส่งเสริมการจัดการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดหรือส่งเสริมเอกลักษณ์ไทย ยุทธศาสตร์ที่ 5.ส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคเอกชน โรงเรียนเอกชนและสถาบันอุดมศึกษามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน (Education Hub) และยุทธศาสตร์ 6.ส่งเสริมภาคเอกชนนำผลวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศเข้าสู่ระบบการศึกษา
“ที่ประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นหลากหลายเกี่ยวกับร่าง ยุทธศาสตร์ฯซึ่งส่วนใหญ่มีประโยชน์มากต่อการพัฒนา เพียงแต่บางยุทธศาสตร์ควรต้องกำหนดแนวทางที่ชัดเจนว่าจะทำเช่นไรจึงจะบรรลุเป้าหมาย เช่น เรื่องของสัดส่วนของผู้เรียนของสถานศึกษาเอกชนกับสถานศึกษาของรัฐ ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่กำหนดสัดส่วนไว้ที่ 35:65 แต่ปรากฏว่าในปี 2552 สัดส่วนอยู่ที่ 19:81 รวมถึงสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาของเอกชนต้องผ่านการรับรองคุณภาพจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ด้วย หรือแม้แต่เรื่องที่จะให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษา ที่ประชุมก็เห็นว่าภาคเอกชนน่าจะเข้ามาร่วมในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50% ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าถึงเวลานั้นภาครัฐก็ต้องมาดูบทบาทตนเองว่าจะเพิ่มเติมจุดใดพิเศษดังนั้นจึงขอให้กลับไปทบทวนแล้วนำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป”รองเลขาธิการ สกศ.กล่าว