โดย...ทิติยา เถาธรรมพิทักษ์
จากการปล่อยน้ำเน่าเสียจากบ้านเรือน ชุมชุน หรือจากโรงงานอุตสาหกรรมลงสู่แม่น้ำ และแหล่งน้ำต่างๆ ได้นำมาซึ่งผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่อาศัยอยู่ในน้ำหรือแม้แต่มนุษย์ก็ได้รับผลกรรมในสิ่งที่กระทำลงไป นั่นก็คือ ทำให้ไม่มีน้ำในการอุปโภคบริโภค หรือในการประกอบอาชีพ และเพื่อที่จะให้แม่น้ำกลับมามีชีวิตเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ รวมทั้งเป็นสายเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์อีกครั้ง ดังนั้นทั้งโรงเรียนวัดอินทาราม กทม.และโรงเรียนเทศบาลบ้านม่วง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ต่างก็ได้จัดโครงการอนุรักษ์ต้นน้ำขึ้น
น้องแอน-น.ส.ณัฐฐา มูลเชื้อ ชั้นม.4 โรงเรียนวัดอินทาราม อาสาเล่าจุดเริ่มต้นในการสนใจอนุรักษ์ต้นน้ำ ว่า ทางโรงเรียนได้เข้าร่วมอบรมโครงการรักษ์ต้นน้ำของเอไอเอสสานรัก ร่วมกับ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง โดยกนำความรู้ที่ได้รับกลับมาใช้ต่อยอดการอนุรักษ์น้ำและการทำเกษตรแบบพอเพียง พร้อมเผยแพร่ต่อไปยัง เพื่อนนักเรียนคนอื่นด้วย แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ในโรงเรียนจึงทำให้ไม่สามารถนำความรู้ที่ได้มาลงมือทำได้อย่างเต็มที่ จึงเน้นในเรื่องของการอนุรักษ์แม่น้ำเป็นส่วนใหญ่ เช่น การทำน้ำยาล้างจานไร้สารพิษไม่ทำลายแหล่งน้ำ การทำบ่อดักไขมันก่อนที่จะปล่อยน้ำลงสู่แม่น้ำลำคลอง นอกจากนี้ยังมีการทำน้ำหมักจุลินทรีย์และนำมาใส่ถังเจาะรูเพื่อใส่สายยางกลายเป็นถังน้ำหยุดแล้วเอาไปวางหรือแขวนไว้ตามแหล่งน้ำใกล้โรงเรียนทำให้ น้ำเสียกลายเป็นน้ำดี
“เราจะเน้นทำที่คลองบางหลวงซึ่งเป็นแหล่งน้ำใกล้กับโรงเรียน เมื่อน้ำในคลองนี้ใสแล้วก็จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาทำให้น้ำในแม่น้ำส่วนหนึ่งใสไปด้วย และเราก็ได้ตั้งเป็นชมรมขึ้นมาด้วยชื่อว่าชมรมคนพอเพียง โดยมีการทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในโรงเรียน เช่น การทำน้ำยาอเนกประสงค์ สบู่สมุนไพร น้ำหมักชีวภาพ การทำระเบิดจุลินทรีย์ซึ่งเราเคยนำไปปาครั้งหนึ่งแล้วที่บริเวณท่าน้ำวัดอินทาราม ผลที่ได้ก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งชาวบ้านก็สนใจและให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี”
น้องยุ้ย-น.ส.สิราวรรณ เจ็กจันทึก ชั้น ม.6 โรงเรียนเทศบาลบ้านม่วง บอกว่า หลังจากการเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งเกี่ยวกับการนำเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรอินทรีย์มาใช้ในการบำบัดน้ำเสียเป็นน้ำใสให้กับต้นน้ำ โดยมีการเข้าไปอบรมร่วมกับโรงเรียนอื่นๆ และมีการประกวดโครงการ ผลก็ปรากฎว่าโรงเรียนของเทศบาลบ้านม่วงก็เป็นหนึ่งในสามโรงเรียนที่ผ่านเข้ารอบ หลังจากนั้นก็ได้นำความรู้ที่ได้กลับไปปฏิบัติที่โรงเรียน
“เมื่อก่อนโรงเรียนเราก็มีชมรมโลกใสใส ที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในโรงเรียนชุมชนแต่ได้มีการปิดชมรมไปนานแล้วเมื่อเราได้เข้าอบรมครั้งนี้ก็เหมือนกับช่วยพลิกฟื้นชมรมนี้ให้กลับขึ้นมาใหม่และมีการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีการทำฐานการเรียนรู้ต่างๆ เช่น ฐานคนมีน้ำยา ฐานคนเอาถ่าน การเอาฟางห่มดิน การปลูกป่า3อย่างประโยชน์ 4อย่าง โดยเราพยายามสร้างให้เหมือนกับสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาจากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติทั้งที่ จ.ชุมพร และ จ.จันทบุรี และที่สำคัญมีการทำเกษตรอินทรีย์ทั้งน้ำหมักจุลินทรีย์และระเบิดจุลินทรีย์มาใช้เพื่อบำบัดน้ำเสียและพลิกฟื้นวิถีชีวิตริมแม่น้ำป่าสัก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้กับโรงเรียนให้ใสสะอาด เมื่อต้นน้ำสะอาดแล้วปลายสายที่เป็นทะเลก็จะใสด้วย”
ด้านน.ส.ณัฏฏ์ฐนัฐ์ เฉลิมสุข ครูผู้ดูแลโครงการอนุรักษ์ต้นน้ำโรงเรียนเทศบาลบ้านม่วง เล่าว่า จากการเข้าร่วมอบรมและนำความรู้มาใช้ที่โรงเรียนทำให้นักเรียนมีความรับผิดชอบมากขึ้น รู้จักการทำงานเป็นกลุ่มโดยมีรุ่นพี่เป็นแกนนำและมีรุ่นน้องเป็นกำลังสนับสนุน จากเมื่อก่อนเด็กอาจจะไม่รู้ว่าการทำเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไรหรือการทำให้แม่น้ำกลับมาใสสะอาดนั้นจะทำอย่างไรได้บ้าง ก็ทำให้เขารู้จากการลงมือทำจริง
“ในอนาคตได้วางแผนไว้ว่าจะมีการขยายออกสู่ชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเราเล็งเห็นว่านอกจากเยาวชนรุ่นใหม่จะเป็นแกนนำในการช่วยกันรักษาแหล่งน้ำแล้วชุมชนใกล้เคียงก็ควรมีส่วนในการร่วมกันรักษาด้วยเพื่อช่วยลดสิ่งปฏิกูลที่ปล่อยจากบ้านเรือนชุมชนให้ลดน้อยลง” น.ส.ณัฏฏ์ฐนัฐ์ ทิ้งท้าย