สธ.เปิดโครงการตรวจสุขภาพพระภิกษุ สามเณร ผู้นำศาสนาทั่วประเทศ 4 แสนรูป เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เร่งให้เสร็จภายในเดือนพฤษภาคม นี้
วานนี้ (1 พ.ค.) ที่จังหวัดสตูล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ วชิระ เพ็งจันทร์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขและคณะ เปิดโครงการตรวจสุขภาพพระภิกษุ สามเณร และผู้นำศาสนา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 โดยจะตรวจคัดกรองสุขภาพพระภิกษุ สามเณร และผู้นำศาสนาทุกศาสนาที่อยู่ในประเทศไทย ทั้งในกรุงเทพมหานคร และในภูมิภาค และให้การดูแลสุขภาพให้ปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บอย่างทั่วถึง สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเต็มที่
นายจุรินทร์ กล่าวว่า โครงการตรวจสุขภาพพระภิกษุ สามเณร และ ผู้นำศาสนา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังกล่าว ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการที่จังหวัดอุบลราชธานีเมื่อเดือนพฤศจิกายน2553ที่ผ่านมา ซึ่งตามโครงการนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ จะร่วมกับมูลนิธิ 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ์ภายใต้พระราชูปถัมภ์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการตรวจสุขภาพให้แก่พระสงฆ์ สามเณร จำนวน 350,000 รูป และ อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น ผู้นำศาสนาอื่นๆ จำนวน 50,000 คน โดยตรวจคัดกรองหาโรคความดันโลหิตสูง ภาวะอ้วน โรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อน สุขภาพช่องปาก การตรวจสุขภาพทั่วไป ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจสุขภาพตา การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เอ็กซเรย์ปอด ตรวจวัดมวลกระดูก เป็นต้น ตั้งเป้าเร่งรัดดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2554 นี้ส่วนการตรวจสุขภาพผู้นำศาสนาอิสลาม จะตรวจสุขภาพ อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น ทุกมัสยิดทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 12,000 คน ใน 66 จังหวัด อยู่ในภาคเหนือ 14 จังหวัด ภาคกลาง 17 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 จังหวัดและภาคใต้ 14 จังหวัด รวม 3,571 มัสยิด โดยอยู่ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2,334 มัสยิด จำนวนผู้นำศาสนาประมาณ 7,100 คน สำหรับจังหวัดสตูล มีเป้าหมายตรวจพระภิกษุ สามเณร จำนวน 222 รูป อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น จำนวน 600 คน ผู้นำศาสนาคริสต์ 6 คน รวมทั้งหมด 828 คน ผลการคัดกรองเบื้องต้น พบว่าผู้นำศาสนามีความเสี่ยงโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า หลังจากตรวจคัดกรองแล้ว จะวางแผนให้การดูแลเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มปกติ จะรณรงค์ส่งเสริมพฤติกรรม เช่นออกกำลังกาย ลดอาหารรสหวาน มัน เค็ม และเพิ่มผักผลไม้ ไม่สูบบุหรี่ ทำจิตใจให้ผ่องใส เพื่อถนอมสุขภาพดี กลุ่มที่เสี่ยงป่วยจะได้รับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดพฤติกรรมเสี่ยง เพื่อไม่ให้กลายเป็นคนป่วย และในกลุ่มที่ป่วยแล้ว จะได้รับการรักษาและดูแลอย่างใกล้ชิดจากโรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลศูนย์ และจะได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพจากโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา