xs
xsm
sm
md
lg

เตือน! พายุฤดูร้อนเข้าเหนือ-อีสาน-กลาง-ตอ.23-26 เม.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
กรมป้องกันฯ เตือน 52 จังหวัด เหนือ อีสาน กลาง ตะวันออก รับมือพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง คาด อาจมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ 23-26 เม.ย.นี้ เตือน ปชช.ดูแลสิ่งปลูกสร้าง-ต้นไม้ให้มั่นคง พร้อมประสาน จนท.เร่งแจ้งเตือน

นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และ ภาคตะวันออก รวม 52 จังหวัด เตรียมพร้อมรับมือและป้องกันอันตรายจากพายุฤดูร้อนในระหว่างวันที่ 23-26 เมษายน 2554 ซึ่งคาดว่าจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และอาจมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ อาจสร้างความเสียหายกับชีวิต ทรัพย์สิน และพืชผลทางการเกษตร

โดยพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ พิษณุโลก ตาก สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ลำปาง เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ หนองบัวลำภู เลย บึงกาฬ หนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง สระบุรี ลพบุรี และ ชัยนาท

ดังนั้น ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยดูแลสิ่งปลูกสร้าง และต้นไม้บริเวณรอบบ้านให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง จัดเก็บสิ่งของที่สามารถปลิวตามลมได้ในที่มิดชิด พร้อมจัดทำที่ค้ำยันต้นไม้ และดูแลพืชผลทางการเกษตรที่อาจได้รับความเสียหายจากพายุลมแรง หลีกเลี่ยงการหลบพายุฝนใต้ต้นไม้ใหญ่ ใกล้ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้า หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพราะอาจถูกล้มทับได้ ไม่อยู่ใกล้วัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า ไม่สวมใส่เครื่องประดับประเภทเงิน นาค ทองแดง รวมถึงงดเว้นการใช้เครื่องมือสื่อสารในที่โล่งแจ้ง เพื่อป้องกันการถูกฟ้าผ่า

ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว ดำเนินการแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมการป้องกันอันตรายจากพายุฤดูร้อน รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพพร้อมให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที ซึ่งปกติแล้วพายุฤดูร้อนนี้สามารถเกิดได้ในทุกภาคของประเทศแต่ส่วนใหญ่จะเกิดในประเทศไทยตอนบน ต่อเนื่องถึงเดือนพฤษภาคม และจะลดลงไปเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน
กำลังโหลดความคิดเห็น