กุมารแพทย์ เตือน อันตรายจากการแพ้สารอาหารในเด็กแรกเกิด อาจถึงตายได้ แนะควรอ่านฉลากส่วนประกอบอาหารให้ชัดเจน หรือพาบุตรหลานตรวจหาสาร
ศ.พญ.พรรณทิพา ฉัตรชาตรี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การแพ้สารอาหารในเด็กกำลังเป็นปัญหาสุขภาพที่ต้องจับตามอง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 3 ขวบ พบว่า มีการแพ้สารอาหารประมาณร้อยละ 8 โดยส่วนใหญ่มีอาการแพ้สารอาหารจำพวกนม ไข่ แป้งสาลี ถั่วลิสง อาหารทะเล ซึ่งอาการจะเริ่มตั้งแต่เกิดผื่นคัน มีอาการคันเรื้อรัง หายใจติดขัด อุจจาระร่วง น้ำหนักลด บางรายส่งผลถึงภาวะการเจริญเติบโต ทำให้โตไม่เต็มวัย หากอาการรุนแรงอาจถึงแก่ชีวิตได้ ทั้งนี้ โดยปกติอาการเหล่านี้จะหายเมื่อโตขึ้น แต่ที่น่าห่วงคือ หากรุนแรงและไม่ระมัดระวังหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ก็อาจเสี่ยงถึงแก่ชีวิตได้
ศ.พญ.พรรณทิพา กล่าวอีกว่า ในเด็กเล็กที่แพ้สารอาหาร พบว่า มีจำนวนหนึ่งที่มีอาการแพ้สารอาหารมากกว่าหนึ่งชนิด จากเดิมอาจแพ้เพียง นม หรือ ไข่ เท่านั้น โดยกลุ่มนี้พบไม่มากประมาณร้อยละ 1 แต่ที่น่ากังวล คือ พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ทราบ โดยอาจเข้าใจว่า แพ้สารอาหารเพียงชนิดเดียว ทำให้ละเลย สิ่งสำคัญต้องสังเกตอาการ โดยหากเริ่มมีผื่นคันก็ต้องรีบพาไปพบแพทย์ ซึ่งปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์ทำให้สามารถตรวจหาสารภูมิแพ้ได้ โดยการเจาะเลือด หรือทดสอบทางผิวหนัง อย่างไรก็ตาม เมื่อทราบว่า บุตรหลานแพ้สารอาหารชนิดใดบ้าง สิ่งสำคัญต้องหลีกเลี่ยง อย่าละเลย โดยเฉพาะการซื้ออาหารสำเร็จรูปในปัจจุบัน ต้องสังเกตส่วนประกอบของอาหารว่ามีสารปรุงแต่งที่บุตรหลานแพ้หรือไม่ เนื่องจากพบว่าปัจจุบันคนมักหลีกเลี่ยงการอ่านฉลาก วิธีสังเกต คือ อาการลูกหลานของตัวเองหลังรับประทานอาหารมีอาการผิดปกติอย่างไร