xs
xsm
sm
md
lg

อัตราการเพิ่มประชากรไทยลด เหตุการเกิดต่ำอย่างรวดเร็ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
อัตราการเพิ่มประชากรไทยลดลง จากร้อยละ2.7 ในปี 2503-2513 ปัจจุบันเหลือ 0.77 ต่อปี เหตุการเกิดลดลงต่อเนื่อง ส่วนกรุงเทพฯ ประชากรหนาแน่นสุด รวมทั้งสิ้น 65.4 ล้านคน อันดับ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดฯ-ฟิลิปปินส์-เวียดนาม

นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผย ผลเบื้องต้นสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ.2553 ว่า ประเทศไทยมีจำนวนประชากร ณ วันที่ 1 กันยายน 2553 จำนวน 65.4 ล้านคน จากปี 2543 มีจำนวนประชากร 60.6 ล้านคน จากที่ปี 2452 ประชากรไทยมีเพียง 8.1 ล้านคน ในปี 53 แบ่งเป็นประชากรหญิง 33.3 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 50.9 และเป็นประชากรชาย 32.1 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 49.1 ซึ่งมากเป็นลำดับ 4 ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากประเทศอินโดนีเซีย 240 ล้านคน ฟิลิปปินส์ 92 ล้านคน และเวียดนาม 88 ล้านคน ตามลำดับ

นายวิบูลย์ทัต กล่าวว่า จากการทำสำมะโนประชากรทุก 10 ปี พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นทุกรอบ โดยอัตราการเพิ่มของประชากรแต่ละรอบแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม พบว่า อัตราการเพิ่มของประชากรในประเทศไทยได้ลดลง อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2503 เป็นต้นมา คือ อัตราการเพิ่มของประชากรในระหว่างปี 2503-2513 เป็นร้อยละ 2.70 ต่อปี ระหว่างปี 2533-2543 เป็นร้อยละ 1.05 ต่อปี และระหว่างปี 2543-2553 ลดลงเหลือร้อยละ 0.77 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากประเทศไทยมีอัตราการเกิดที่ลดต่ำลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

ประเทศไทยมีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 20.3 ล้านครัวเรือน โดยมีขนาดครัวเรือนเฉลี่ย 3.2 คน ซึ่งมีขนาดเล็กลงเมื่อเทียบกับสำมะโนประชากรและเคหะ ปี 2543 ซึ่งมีขนาดครัวเรือนเฉลี่ย 3.9 คน ภาคที่มีขนาดครัวเรือนเฉลี่ยใหญ่สุด คือภาคใต้ 3.54 คน รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3.53 คน ภาคเหนือ 3.1 คน ภาคกลาง 3.0 คน และกรุงเทพมหานครมีขนาดครัวเรือนเฉลี่ยเล็กสุด 2.9 คน

ด้าน ความหนาแน่นประชากร ประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ 513,120 ตารางกิโลเมตร มีความหนาแน่นของประชากร โดยเฉลี่ย 127.5 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร ซึ่งหนาแน่นกว่า 10 ปีที่แล้ว ที่มีตัวเลขความหนาแน่นของประชากรที่ 118.1 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร

เป็นที่ทราบกันดีว่า ประชากรมีการย้ายถิ่นฐานมาหาแหล่งงานในกรุงเทพมหานคร จังหวัดในปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก จังหวัดที่มีความเจริญ มีสถานศึกษา โรงพยาบาล สถานบริการทางด้านสาธารณสุข การคมนาคมขนส่งสะดวกสบาย จะมีประชากรอยู่กันหนาแน่น จึงส่งผลทำให้จังหวัดเหล่านี้มีความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ยสูงขึ้น เช่น กรุงเทพมหานคร มีความหนาแน่นของประชากรสูงสุด เพิ่มจาก 4,028.9 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร ในปี 2543 เป็น 5,258.6 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตรในปี 2553

จังหวัดที่มีความหนาแน่นของประชากรโดยเฉลี่ยสูงที่สุด 10 อันดับ คือ กรุงเทพมหานคร รองลงมา คือ จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ภูเก็ต ปทุมธานี สมุทรสงคราม นครปฐม ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา ตามลำดับ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น