xs
xsm
sm
md
lg

การเคหะฯนำร่อง “บ้านตายาย” พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ(หลังเก่า)
โดย...คุณวัตร ไพรภัทรกุล

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ วัยแห่งการพึงพิง มีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ต้องใช้ชีวิตบั่นปลายอย่างยากลำบาก ไม่มีลูกหลานเลี้ยงดู หรือแม้แต่ไม่มีผู้อยู่อาศัย

การเคหะแห่งชาติ เล็งเห็นถึงปัญหาเหล่านี้ จึงได้จัดทำโครงการนำร่อง ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ (มศว) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ทำการวิจัย“โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในสังคมไทย” ที่เทศบาลต.บางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เพื่อให้เกิดแบบจำลองการแก้ปัญหาที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในท้องถิ่นอื่นๆ ได้

เรืองยุทธ์ ตีระวนิช รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการพัฒนาที่อยู่อาศัย การเคหะแห่งชาติ บอกว่า จากผลการวิจัยของมศว พบว่า เทศบาล ต.บางตะบูน มีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป จำนวน 957 คน คิดเป็น 16.7% ของจำนวนประชากรทั้งหมด นับเป็นสัดส่วนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับตัวเลขผู้สูงอายุเฉลี่ยทั้งประเทศที่ 11.7%

สำหรับที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุในเขตเทศบาล ต.บางตะบูน ส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ ปลูกในลักษณะยกพื้นสูง ราวบันไดไม่มีที่จับ ห้องน้ำอยู่นอกตัวบ้าน ซึ่งไม่ค่อยได้รับการดูแลให้อยู่ในสภาพที่ดี อันเนื่องจากฐานะยากจนทำให้ผู้สูงอายุลื่นล้มหรือสะดุดได้ง่าย
สภาพที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุที่สร้างใหม่
เรืองยุทธ์ บอกอีกว่า เมื่อรวบรวมประมวลผลข้อมูลทั้งหมดแล้ว การเคหะแห่งชาติได้ต่อยอดงานวิจัยด้วยการจัดทำ “โครงการปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ” ซึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อย และผู้ยากไร้ ในชุมชน โดยได้รับความร่วมมือจากเทศบาลต.บางตะบูน ช่วยคัดเลือกผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ประสบปัญหาเร่งด่วน ในการอยู่อาศัยจำนวน 12 ราย ซึ่งถึงปัจจุบันได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยจำนวน 4 หลัง และการสร้างบ้านใหม่ให้อีก 2 หลัง

อยากให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุยษ์(พม.) หรือภาคเอกชนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม หรือเป็นภาคีมากกว่านี้ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงหรือสร้างบ้านใหม่ให้กับผู้สูงอายุ หลังละประมาณ 20,000-30,000 บาท และถ้าสร้างบ้านใหม่ค่าใช้จ่ายจะประมาณเกือบแสนบาท ซึ่งส่วนมากจะเป็นการปรับปรุงทางเดิน ราวจับ หรือสร้างห้องน้ำใหม่ในตัวบ้าน เพราะห้องน้ำส่วนใหญ่ไม่มีราวจับและเป็นลักษณะส้วมดินทำให้ผู้สูงอายุใช้ห้องน้ำลำบากโดยเฉพาะช่วงหน้าฝน

เรืองยุทธ์ สะท้อนด้วยว่า แม้ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานเข้ามาปรับปรุง ซ่อมแซม และสร้างบ้านใหม่กับผู้สูงอายุ แต่ยังมีปัญหาด้านงบประมาณที่ไม่เพียงพอต่อความเดือดร้อน รวมถึงการออกแบบบ้านที่ยังไม่ตรงกับสภาพที่อยู่อาศัย เช่น บ้านที่สร้างด้วยสังกะสีทั้งหลัง มีประตูเข้าทางเดียว แต่ไม่มีหน้าต่าง ซึ่งการเคหะฯกำลังผลักดันให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือเองและชาวบ้าน เพราะที่ผ่านมาโครงการต่างๆ ยังทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทั้งนี้ อยากให้เทศบาลเข้ามามีการร่วมกันทำงานและนำงบประมาณมาร่วมกันระหว่างเทศบาลกับการเคหะฯ รวมถึงวิธีที่จะทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาให้มากกว่านี้

ลี่ ชื่นกลิ่น คุณยายวัย 94 ปี หนึ่งในผู้อยู่อาศัยที่ได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน ซึ่งอาศัยอยู่กับหลาน 2 คน โดยการเคหะฯ สร้างห้องน้ำภายในตัวบ้านให้ รวมถึงปรับปรุงระเบียงและบันไดหน้าบ้าน บอกว่า ก่อนหน้านี้เดินลำบากมากเพราะทั้งในบ้านและนอกบ้านไม่มีราวให้เกาะ ทำให้ล้มบ่อยมาก แต่หลังจากที่ได้รับการช่วยเหลือก็ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ตอนนี้บ้านที่อยู่นี่ก็เริ่มเอียงแล้วเพราะเสามันหัก อยากให้เข้ามาช่วยซ่อมแซมเสาด้วย

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ยังเป็นเพียงโครงการนำร่อง เพื่อรองรับปัญหาผู้สูงอายุที่จะมีเพิ่มมากขึ้นทั่วประเทศ จึงเป็นที่คาดหวังว่า จะได้รับการผลักดัน สนับสนุนให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุมากกว่าที่เป็นอยู่นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น