“สมพงษ์” เผยผลวิจัยนักวิชาการมะกัน พบ เด็กใช้เวลาเรียนรู้ทักษะการอ่านแค่ 0.2% ชี้ชัดกว่า 30% ไม่สามารถอ่านวิเคราะห์ได้ โดยเฉพาะเด็กชายแดนใต้ ชวนโรงเรียนทั่วประเทศรับทุนสนับสนุนร่วมโครงกาส่งเสริมนวัตกรรมการเรียนรู้เด็กประถม เน้นปรับสมรรถนะการอ่าน
วันนี้ (14 มี.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น.ณ โรงเรียนวัดปทุมวนาราม ในพระราชูปภัมภ์ฯ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดแถลงข่าวโครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ระดับประถมศึกษาครั้งที่ 1/2554 โดย รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เด็กนักเรียนวัยประถมศึกษา ต้องจัดการศึกษาที่เรียนกว่าเรียนปนเล่น ฉะนั้นครูยุคปฏิรูปการศึกษาต้องเปลี่ยนจากครู เป็นวิทยากรกระบวนการ ที่ไม่ใช่เพียงการสอนในหนังสือ แต่เป็นผู้อำนวยความสะดวกและส่งเสริมให้เด็กเกิดสถานการณ์แห่งการเรียนรู้ที่สอดคล้องตามความต้องการของเด็ก โดยเฉพาะการอ่านที่เป็นทักษะซึ่งต้องใช้ตลอดชีวิตนั้น ทั้งนี้ นักวิจัยชาวอเมริกันได้เปรียบเทียบว่า เด็กใช้เวลาเรียนรู้ทักษะการอ่านเฉลี่ยตลอดชีวิตเพียง 0.2% ขณะที่ทักษะนี้จะส่งผลระยะยาวต่อชีวิตที่เหลืออยู่มากถึง 98% สะท้อนให้เห็นว่า เด็กช่วงวัยประถมฯ นั้นเป็นอีกช่วงเวลาที่สำคัญในการพัฒนาทักษะพื้นฐาน ขณะที่เด็กประถมไทยมีผลวิจัยชี้ชัดว่า กว่า 30% ไม่สามารถอ่านวิเคราะห์ได้ และค่าเฉลี่ยจะยิ่งสูงขึ้นสำหรับเด็กไทยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อว่า เด็กนักเรียนระดับประถมฯ จะประสบปัญหาการอ่าน จับใจความและวิเคราะห์ไม่เป็น โดยสถิติล่าสุดจากรายงานสภาวการณ์เด็กและเยาวชนปี 2550-2552 ระบุว่า เด็กประถมฯ ใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ไปกับการเล่นเกมส์ เพิ่มจาก 23% เป็น 32% เฉลี่ยวันละ 2-3 ชั่วโมง และท่องอินเตอร์เน็ตเพิ่มจาก 18% เป็น 22% โดยเด็กประถมฯ เพียง 50% ระบุชอบไปโรงเรียนมาก ซึ่งสถิติลดลงมาจาก 57% นอกจากนี้เด็กประถมฯ มีอัตราเรียนพิเศษเพิ่มขึ้นรวม 27% โดยประมาณ 1 ใน 7 ของเด็กประถมฯ ถูกส่งไปเรียนพิเศษ แสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นใจต่อการเรียนการสอนในห้องของผู้ปกครอง
“ปัจจุบันการเรียนการสอนยังเป็นระบบ 70:30 คือ เรียนในตำรา 70% และทำกิจกรรม 30% ฉะนั้นสำหรับโครงการเด็กประถมนั้นก็น่าจะกระตุ้นให้สัดส่วนของกิจกรรมมากขึ้น ขณะเดียวกันครึ่งหนึ่งของการเรียนรู้ในตำราก็ต้องปรับให้สอดคล้องกับวัยเด็กประถมที่ต้องเน้นการเล่นไปด้วยเรียนไปด้วย ซึ่งการประยุกต์ใช้นิว มีเดียกับเด็กก็น่าจะถือเป็นอีกช่องทางในการฉกฉวยโอกาสสร้างการเรียนรู้ให้เป็นไปตามสิ่งที่เขาชอบ เช่น เด็กติดเกม ติดอินเทอร์เน็ต ก็ใช้สื่อเหล่านี้สอนเด็ก เขาก็จะสนุกกับการเรียนการสอนมากขึ้น” อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค.กล่าวว่า แนวคิดของโครงการ เพื่อต้องการให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เพื่อให้เด็กและเยาวชนค้นพบศักยภาพและความถนัดของตนเอง มีทักษะและสามารถพัฒนาตนเอง ประเด็นสำคัญ คือ ต้องการส่งเสริมค่านิยมสำนึกรักท้องถิ่น ด้วยการสร้างหลักสูตร หรือกิจกรรมที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะครูท้องถิ่นจะมีกระบวนการสร้างการเรียนรู้อย่างไรให้เด็กรักท้องถิ่นตัวเอง สำหรับหัวข้อการให้ทุนครั้งนี้จะมุ่งเน้น 1.การพัฒนาสมรรถนะการอ่าน 2.การเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกสนุกและอยากเรียนรู้ไปพร้อมกัน และ 3.การเรียนรู้ที่พัฒนาคุณลักษณะที่ดีงามของผู้เรียน โดยแบ่งโครงการเป็น 2 ลักษณะคือ 1.โครงการเดี่ยว ภายใต้เงินสนับสนุน 50,000 บาท 2.โครงการกลุ่ม สนับสนุนให้เกิดการช่วยเหลือแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างเครือข่ายโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง ภายใต้เงินสนับสนุน 50,000-500,000 บาท ระยะเวลาดำเนินงานระหว่าง 8-12 เดือน โดยสามารถเริ่มโครงการภายในเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ สำหรับโรงเรียนที่สนใจสามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.QLF.or.th และส่งใบสมัครได้ที่ primaryschool@QLF.or.th จนถึง 14 เม.ย.นี้ สอบถามที่ 0 2619 1811