xs
xsm
sm
md
lg

ตะลึง! บ.น้ำเมาทำผิดพุ่ง 1 พันคดี แฉเล่ห์โฆษณาแฝงเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
ตะลึง!! บ.น้ำเมาทำผิด พ.ร.บ.คุมเหล้าฯ พุ่ง กว่า 1 พันคดี ในรอบ 3 ปี ด้านนักวิชาการชี้พบโฆษณาระบบใหม่แอบใช้ “ระบบน่านน้ำครำ” โฆษณาแฝงเพียบ ขณะ ผอ.ศวส.จวกยับ ระบบภาษีไทยล้าหลัง เสนอรัฐฯ ขยายเพดานโดยดูราคาขายปลีกในร้านค้าย่อย โดยไม่แยกประเภทแอลกอฮอล์ พร้อมแก้ภาษีใหม่ทุก 6 เดือน

วันนี้ (14 มี.ค.) ที่ นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวในการเสวนาเรื่อง “3 ปี พ.ร.บ.คุมเหล้ากับการเสนอภาษีตามดีกรี...ก้าวหน้าหรือล้าหลัง” ที่จัดขึ้นใน รร.รัตนโกสินทร์ กทม.ว่า จากข้อมูลที่ สคล.ได้ร้องเรียนเรื่องการฝ่าฝืนกฎหมายของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตั้งแต่เดือน พ.ค.2552 - ม.ค.2554 พบว่ามีการทำผิดเกี่ยวกับการโฆษณามากถึง 1,017 กรณี โดยรูปแบบการกระทำโดยส่วนมากเป็นการละเมิดกฎกระทรวงตามมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เช่น ไม่มีข้อความคำเตือน ไม่มีข้อความสร้างสรรค์สังคม โดยรูปแบบสื่อที่นำเสนอโฆษณาซึ่งมีการกระทำผิดมากที่สุด คือ ป้ายตู้ไฟมีจำนวนถึง 715 กรณี คิดเป็น 70.30 %ป้ายแบนเนอร์ 14.2% ธงราว 3.5% และธงญี่ปุ่น 2.2% โปสเตอร์ 0.3% ส่วนที่เหลือเป็นการโฆษณาผ่านแก้ว ร่มสนาม ทาวเวอร์เบียร์คิดเป็น 9.5%

“ส่วนกรณีบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายที่มีผู้ร้องเรียนมากทีสุด 5 ลำดับ ได้แก่ บ.ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) 386 กรณี บ.ดิอาจิโอ โอเอ็มเฮ็ทเฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด 171 กรณี บ.สิงห์คอปเปอร์เรชั่น จำกัด 168 กรณี บ.เพอร์นอต ริคาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด 165 กรณี และบ.ไทยเอเชียแปซิฟิก บริวเวอรี่ จำกัด 54 กรณี ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ท้าทายกฎหมายพอสมควร สิ่งที่ภาคประชาชนต้องเร่งผลักดัน คือ เรื่องการการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เช่น มาตรการควบคุมการขายเหล้าปั่น จัดโซนนิ่งร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ตั้งแต่ปลายปี 2552 จนถึงวันนี้กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ เหลานี้นำมาสู่ปัญหาการเพิ่มขึ้นของนักดื่มหน้าใหม่ในอายุน้อยลงเรื่อยๆ ราวปีละ 260,000 คน” นายธีระกล่าว

ดร.นิษฐา หรุ่นเกษม ตัวแทนจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อระวังปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตั้งแต่มี กม.ควบคุมเหล้า คือการทำการตลาดแบบน่านน้ำครำหมายถึงซ่อนการโฆษณาโดยเปิดเผยแบบตรงๆ คือ มีตั้งแต่เล่นซ่อนแอบ เช่นแฝงข้อความตามชั้นวางสินค้าในร้าน แบบเล่นกับลูกนัยน์ตา คือ โฆษณาโดยเน้นภาพ ข้อความ และสีเพื่อดึงดูดสายตา ผู้บริโภคพบได้บ่อยในป้ายโฆษณาตามผับ บาร์และร้านอาหาร และแบบออนไลน์พ่วงขายน้ำเมาผ่านการตลาดแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ยอดนิยม เช่น เฟสบุ๊ค มัลติพลาย เพื่อให้ข้อมูลสินค้า และแทรกกิจกรรมพิเศษเพื่อส่งเสริมการ

ด้าน นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สำหรับช่องว่างทาง กฎหมายคุมเหล้านั้น อ่อนในเรื่องกระบวนการดำเนินการของ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ มีการรณรงค์ให้ความรู้เด็ก แต่ไม่มีการเอาผิดกับร้านค้าที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่เด็กต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงความความหละหลวมในเรื่องการเก็บภาษีนั้นยังไม่ดีพอ ยังล้าหลังคือ ขณะนี้การเก็บภาษีของรัฐบาลแบบสองเลือกหนึ่ง คือ เลือกเอาเม็ดเงินที่สูงกว่าระหว่างภาษีตามมูลค่ากับภาษีตามดีกรี ซึ่งยังถือว่าล้าหลังแม้ว่ารัฐบาลพยายามปรับเป็นภาษีตามดีกรีอย่างเดียวเพื่อให้เหมือนกับระดับสากล ก็ยังถือว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เนื่องจากปริมาณนักดื่มในประเทศไทยมีเพียง 30% เท่านั้น ขณะที่ต่างประเทศที่ใช้ระบบภาษีตามดีกรีนั้นมีถึง 80% ซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

นพ.ทักษพลกล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลจะแก้ปัญหาแบบองค์รวมทั้งลดนักดื่มหน้าใหม่ แก้ปัญหาสุขภาพของประชาชนและยังคงมีรายได้จากการเก็บภาษีที่ไม่ทำให้ขาดทุน รัฐต้องขยายเพดานอัตราภาษี โดยไปพิจารณาราคาขายปลีกตามร้านค้าย่อยๆ ด้วย เพราะปัจจุบันมีเพดานการเก็บภาษีเต็มอัตราหมดแล้ว ไม่สามารถขยับขึ้นได้ ทำให้ผู้ผลิตยังสามารถขายได้ในปริมาณที่มากขึ้น รวมทั้งเก็บภาษีในอัตราเดียวกันกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท เช่น เก็บภาษี 1,000 บาทต่อแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 1 ลิตร ในสุราและเบียร์ทุกประเภท เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการ ทั้งนี้ ควรรื้อแก้ระบบภาษีให้บ่อย เช่น แก้ใหม่ทุกๆ 6 เดือน โดยดูจากสภาพเศรษฐกิจเป็นหลัก
กำลังโหลดความคิดเห็น