xs
xsm
sm
md
lg

ฟ้องแพทยสภา “ปรียนันท์” ใส่ร้ายหมอ มั่วภาพกรรไกรในคอเด็ก - ยันเคสจากอเมริกา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หมอประชุมพร” แฉ ! ประธานเครือข่ายผู้ป่วย อ้างภาพเด็กผ่าตัดหมอลืมกรรไกรในคอเป็นเท็จ ชี้เป็นภาพเด็กอเมริกันกลืนกรรมไกรลงคอ ร้องแพทยสภาเร่งตรวจสอบ หวั่นทำลายภาพลักษณ์แพทย์ไทย สธ.สรุป “ปรียนันท์”แปลความเอกสารผิด

พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(สพศท.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ตนได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกแพทยสภา กรณีที่มีการนำภาพเอ็กซเรย์ผู้ป่วยที่มีกรรไกรอยู่ในช่องคอมาเผยแพร่ผ่านทางเฟซบุ๊คของนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ และจัดทำเป็นโปสเตอร์ขนาดใหญ่จัดแสดงบริเวณหน้ารัฐสภา โดยระบุว่าเป็นภาพของการผ่าตัดแล้วลืมกรรไกร ซึ่งอาจส่งผลให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าเกิดขึ้นจากความบกพร่องของแพทย์ไทย

พญ.ประชุมพร กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบภาพดังกล่าว พบว่า เป็นภาพที่มีการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์เดลี่เมล์ ซึ่งระบุเนื้อความว่า เด็กชายวัย 12 ขวบในประเทศสหรัฐอเมริการอดชีวิตปาฏิหาริย์จากการกลืนกรรไกรเข้าไป โดยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับแพทย์ไทยทั้งสิ้น แต่การจงใจนำเสนอภาพนี้พร้อมกับข้อความ ผ่าตัดแล้วลืมกรรไกร ,คุณรู้ไหมว่าทุกๆ1ใน6ของคนที่ตายในโรงพยาบาลเกิดจากความผิดพลาดทางการแพทย์ เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวผลักดันร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ... เท่ากับมีเจตนาสร้างความเข้าใจผิดต่อแพทย์ไทย ใส่ร้าย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องยื่นเรื่องร้องเรียนต่อแพทยสภา อยากให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะเรื่องดังกล่าวสร้างความเสื่อมเสียต่อแพทย์ไทย

ด้าน ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภารับเรื่องนี้ไว้พิจารณาและจะตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป จากนั้นจะแถลงให้ประชาชนทั่วไปทราบ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

แหล่งข่าวรายหนึ่งในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ คณะกรรมการ(คกก.)พิจารณาและตรวจสอบข้อมูลด้านการแพทย์และสาธารณสุขมี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์เป็นประธาน ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากการที่มีการนำเสนอข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของ นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒฯ ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์แล้ว คกก.สรุปผลว่า การคำนวณของนางปรียนันท์เป็นการแปลความเอกสารผิด โดยแปลความว่า ผู้ป่วยเสียชีวิตจากภาวะไม่พึงประสงค์ที่ป้องกันได้จำนวนถึง 65,000 ราย แต่ในความจริงหมายถึงภาวะไม่พึงประสงค์ที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต นั้นไม่ได้มีการระบุว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิตเกิดจากภาวะไม่พึงประสงค์ที่ป้องกันได้หรือ ป้องกันไม่ได้นั้นมีสัดส่วนเท่าไหร่ ทั้งนี้ สธ.ได้มีการตรวจสอบและยืนยันว่าผู้เสียชีวิตจากภาวะไม่พึงประสงค์นั้นมีตัวเลขที่ไม่ได้มากกมายเท่ากับจำนวนที่ นางปรียนันท์ กล่าวอ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น