xs
xsm
sm
md
lg

ก.ค.ศ.เล็งปรับพอกเงินเดือนช่วยครู 2 หมื่นคน ชวดได้เพิ่มเงินเดือน 8%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.ค.ศ.รับจนปัญญาลดเพดานเงินเดือนขั้นต่ำเท่ากลุ่มข้าราชการครู 2 หมื่นคน ที่เงินเดือนต่ำกว่าขั้นต่ำ ทำชวดได้เพิ่มเงินเดือน 8% เล็งใช้วิธีปรับพอกเงินเดือน เชื่อแค่ 2 ปีมีเงินเดือนเข้าเกณฑ์ชัวร์

วันนี้ (9 มี.ค.) นายพิษณุ ตุลสุข รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยกรณีมีกลุ่มข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประมาณ 20,000 คน จะไม่ได้ปรับเพดานเงินเดือน 8% ตามบัญชีที่แนบท้ายร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่) พ.ศ.... ที่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาไปแล้วว่า ในช่วงการจัดทำร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ นั้น ทางสำนักงาน ก.ค.ศ.ทราบอยู่แล้วว่าจะมีข้าราชการครูฯ จำนวนหนึ่งที่มีเงินเดือนต่ำกว่าเงินเดือนขั้นต่ำตามบัญชีเงินเดือนขั้นสูงขั้นต่ำแนบท้ายร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และได้หาแนวทางช่วยเหลือ แต่ก็ไม่สามารถที่จะปรับเพดานเงินเดือนขั้นต่ำให้ลดลงมาเท่ากันเงินเดือนของ ข้าราชการครูฯ กลุ่มดังกล่าวได้เพราะจะทำให้เพดานเงิน เดือนขั้นต่ำของข้าราชการครูในแต่ละอันดับต่ำกว่าข้าราชการทั่วไป

นายพิษณุ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ในร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ ได้ระบุเอาไว้แล้วว่าหลักเกณฑ์และวิธีการจะให้เป็นไปตามที่ ก.ค.ศ.ซึ่งจะทำให้สามารถกำหนดแนวทางที่จะช่วยเหลือข้าราชการครูฯ กลุ่มนี้ได้ ซึ่งแนวทางที่น่าจะเป็นไปได้สุดคือการปรับพอกเงินเดือนที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นำมาใช้กับข้าราชการก.พ.ที่เงินเดือนต่ำกว่า ขั้นต่ำของบัญชีเงินเดือน

“วิธีการปรับพอกเงินเดือนนั้นจะทำให้ครู กลุ่มดังกล่าวได้ปรับเงินเดือนถึงขั้นต่ำเร็วขึ้นกว่าเดิมและอาจจะใช้เวลา ประมาณ 2 ปีเท่านั้น เพราะจะมีการเพิ่มขั้นให้อีก 1 ขั้น เช่น ในปีนี้ครูคนหนึ่งได้เลื่อนขั้นปกติ 1.5 ขั้นก็อาจจะเพิ่มให้อีก 1.5 ขั้นรวมเป็น 3 ขั้นแต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับผลงานประกอบด้วย ทั้งนี้ไม่อยากให้ข้าราชการครูฯ กลุ่มนี้กังวลใจ เพราะยังไงก็จะได้ปรับเงินเดือนเข้าสู่ขั้นต่ำอยู่แล้ว ซึ่งหลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ ประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว ก.ค.ศ.จะต้องเร่งกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการออกมารองรับเพื่อใช้ในการปรับเงินเดือนต่อไป” รองเลขาฯ ก.ค.ศ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น